โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) หลังมองเป็นหุ้นที่มีจุดแข็ง และมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์ และการขยายตลาดไปยังอินเดียมากขึ้น รวมถึงยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ใช้เองในโรงงานช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผลให้มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรปี 60 จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 59 รับผลภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว และคำสั่งซื้อที่เข้ามาต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนรวมที่ลดลงจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานเอง
ส่วนการชะลอแผนร่วมทุนพันธมิตรจีนเพื่อผลิตและจำหน่ายยางล้อรถยนต์และยางล้อรถบรรทุก มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท มองว่าไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้
หุ้น NDR ช่วงบ่ายอยู่ที่ 4.22 บาท ลดลง 0.02 บาท (-0.47%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.05%
เออีซี ซื้อ 5.15 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ทยอยซื้อ 4.48 เอเอสแอล ซื้อ 4.92 นักวิเคาระห์หลักทรัพย์ บล.เออีซี กล่าวว่า NDR เป็นหุ้นที่เริ่มต้นคำแนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากเป็นหุ้น Small-Cap ที่มี 4 จุดแข็ง ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ, ช่องทางจัดจำหน่าย, ที่ตั้งโรงงาน และการรองรับคำสั่งซื้อได้ทันที ซึ่งจะช่วยรักษาลูกค้าเดิมและเพิ่มโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคต ทั้งนี้ แม้ช่วงไตรมาส 4/59 คาด NDR มียอดขายเติบโตเพียง 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังการเริ่มปรับราคายางขึ้น สนับสนุนให้ลูกค้าเร่งสั่งออเดอร์กักตุนสินค้า แต่ด้วยนโยบายสต็อกวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อผลิตราว 3 เดือน จึงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นยังไม่กดดันมาร์จิ้นในช่วงไตรมาส 4/59 บวกกับ NDR เริ่มขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงอย่าง Air Lock ตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.59 จึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ 18.0% สูงกว่าช่วงไตรมาส 4/58 ที่ 14.5% และทำให้คาดว่าในช่วงไตรมาส 4/59 จะมีกำไรสุทธิ 15.2 ล้านบาท เติบโตโดดเด่น 62.8% และมีอัตรากำไรสุทธิ เพิ่มเป็น 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4.5% สนับสนุนให้ทั้งปี 59 คาด NDR มีกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท เติบโต 63.8% จากปีก่อน นอกจากนี้ ในปี 60-61 คาดว่า NDR มีกำไรสุทธิโตเฉลี่ยปีละ 11.1% ด้วยแรงหนุนจากอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์ที่ยังเติบโตสดใส, แผนแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพื่อการทดแทน (REM) จากคู่แข่งด้วยกลยุทธ์ Fighting Brand ,แนวโน้มสดใสของลูกค้ากลุ่มรับจ้างผลิต (OEM) ที่อินเดีย และการเจาะตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อังกฤษและกลุ่มตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากที่ NDR ประกาศร่วมทุนราว 30% จัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายยางล้อรถยนต์และยางล้อรถบรรทุก มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท ซึ่งเดิมจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร 2 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ป.สยามอุตสาหกรรมยาง จำกัด และ Shandong Yinbao Group Co.,Ltd. จากจีน แต่ Shandong ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นราว 40% ยังไม่สามารถยอมรับข้อตกลงในเงื่อนไขบางประการได้ จึงขอชะลอการตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม NDR และป.สยามอุตสาหกรรมยาง ยังคงตกลงที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป ทำให้แผนการลงทุนจะถูกเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะมีสินค้าเริ่มผลิตออกมาในราวปลายปี 61 หรือต้นปี 62 แต่ฟิลลิปฯ เชื่อว่าการชะลอโครงการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ NDR หากในกรณีแย่สุดไม่มี Shandong เข้ามาร่วมลงทุนด้วย อาจทำให้ NDR ชะลอแผนการลงทุนออกไปสักระยะหนึ่งเพื่อรอหรือมองหาพันธมิตรใหม่ หรือไม่ก็อาจปรับเปลี่ยนรายละเอียดแผนการลงทุนโครงการดังกล่าวใหม่ ซึ่งทาง NDR ยังอยู่ระหว่างการทบทวนและศึกษาแผนการลงทุนอีกครั้ง คาดจะเห็นความคืบหน้าได้ในไม่ช้า ส่วนแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปี 59 น่าจะเป็นไปตามที่เคยคาดไว้ก่อนหน้าจากยอดขายที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการทำการตลาดในประเทศต่อเนื่องและส่งออกสินค้าไปอินเดียได้มากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงานเต็มไตรมาส ส่งผลให้มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น โดยคงประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 59 และ 60 ไว้ที่ 60 ล้านบาท และ 72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.2% จากปี 58 และ 20.2% จากปี 59 ตามลำดับ โดยสมมติฐานยอดขายปี 59 และ 60 อยู่ที่ 856 ล้านบาท และ 949 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบปีต่อปี ที่ 8.1% และ 10.9% ตามลำดับ "แนวโน้มยอดขายปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งจากปริมาณคำสั่งซื้อเดิมและงานโมเดลใหม่ที่คาดจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงาน ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนรวมได้สูงถึงปีละ 4.3 ล้านบาท หรือราว ๆ 0.5% หนุนให้ผลการดำเนินงานขยายตัวโดดเด่น"นักวิเคราะห์ กล่าว ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเอสแอล ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ" หุ้น NDR ราคาเป้าหมายที่ 4.92 บาท มองยังมีโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ใช้สินค้า และบริษัทยังมีการควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดีในวัตถุดิบที่มีสัดส่วนการใช้ค่อนข้างสูง เช่น ยางธรรมชาติ ส่งผลต่ออัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT Margin) ปรับตัวเพิ่มขึ้น