นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในปี 60 ไว้ที่ 138,000 ล้านบาท หรือประมาณ 23% จากปี 59 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวม 112,006 ล้านบาท เติบโตกว่า 35%
ในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นการให้ความสำคัญในการรักษามาตรฐานการบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับลูกค้า ซึ่งการบริหารกองทุนถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจบริหารจัดการกองทุน ,การนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์กองทุนรวม รวมถึงการขยายฐานพันธมิตรธุรกิจและฐานลูกค้าจากทั้งสองธุรกิจ คือ ธุรกิจกองทุนรวมและธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อีกทั้งบริษัทมีแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อเสริมการให้บริการ (Digital Platform) โดยมองว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการใหม่ ๆ จะต้องเอื้อประโยชน์และให้สอดคล้องกับเทรนด์การใช้ชีวิตของนักลงทุนรุ่นใหม่ในโลกยุคดิจิทัล และการวางแผนการขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง เช่น Provident Fund to RMF และการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้กับสมาชิก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านการจัดพอร์ตการลงทุน CIMB-PRINCIPAL Asset Allocation Model เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าโดยรวมของบริษัท
บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เตรียมเปิดขาย IPO กองทุนใหม่ "กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไทย ไดนามิก อินคัม อิควิตี้" CIMB-PRINCIPAL Thai Dynamic Income Equity (CIMB-PRINCIPAL TDIF) ในวัน 19-27 ม.ค.60 ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่มีขนาดกองทุน 3,000 ล้านบาท ราคาเสนอขาย IPO ที่ 10 บาทต่อหน่วย ค่าธรรมเนียมการซื้อ 1% ของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท และจะพิจารณาจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประมาณปีละ 2 ครั้ง
กองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่เน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ดีหรือเป็นบริษัทที่มีประวัติการจ่ายปันผลที่ดี และอยู่ในระดับสูง เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้า ,ประปา เป็นต้น และพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ,ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) รวมถึงตราสารอื่น ๆ หรือหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
นายวิน พรหมแพทย์ CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 60 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยประเมินว่าดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์อัตรา GDP จะเติบโตที่ 3.2-3.5% เป็นผลมาจากภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานคมนาคมกว่า 5 แสนล้านบาท ,การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี หลังจากที่รัฐบาลได้เข้าไปปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือทัวร์จีน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของภาคการท่องเที่ยวมีคุณภาพมากขึ้น
ขณะที่ค่าเงินบาทถือว่ามีเสถียรภาพกว่าเงินตราสกุลอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในหุ้นปันผลมีความน่าสนใจจากผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง และสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปลายปี 60 หรือต้นปี 61 ตามโรดแมพที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของสายตานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันคาดการเติบโตของกำไรตลาดหุ้นไทย (EPS Growth) ปี 60 จะอยู่ที่ 12%
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ยังต้องจับตาดูนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะทำได้จริง 100% หรือไม่ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีความกังวลต่อคำพูดของนายทรัมป์ที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุน ทำให้อาจจะเห็น Fund Flow ต่างชาติ ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ส่วนแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติน่าจะไม่มีมากแล้ว หลังจากสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 55 ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 29% ต่ำสุดในรอบ 12 ปี
อย่างไรก็ตาม จากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นประมาณ 20% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นจากทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด จึงประเมินว่าตลาดหุ้นไทยในปีนี้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น แต่ค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบัน Valuation ของหุ้นไทย ณ ปัจจุบันซื้อขายที่ค่า Forward PE ประมาณ 14 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ย้อนหลังเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคนี้ก็ยังถือว่าต่ำกว่า ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ