นายคเณศ วังศ์ไพจิตร เลขาธิการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมี.ค.) อยู่ที่ 102.99 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดยนักลงทุนยังมองว่าความผันผวนของเงินทุนที่ไหลเข้าออกของตลาดเกิดใหม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเกณฑ์ร้อนแรง 6.66% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้แก่ดัชนีฯ
ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดภูมิภาคที่ได้รับอิทธิพลการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนเป็นหลัก แต่เป็นเพียงแค่ผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากอานิสงค์นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยเสริมจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้ดี แต่ความเชื่อมั่นภาคเอกชนยังถือว่าเปราะบางอยู่
ในปี 60 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปแล้ว 0.25% อยู่ที่ระดับ 0.50-0.75% ขณะเดียวกันที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0% โดยคาดว่าจะส่งผลต่อการไหลของเม็ดเงินอย่างมหาศาล ด้านจีนได้เพิ่มมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกจากประเทศในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าดึงสกุลเงินในภูมิภาคปรับตัวอ่อนลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมีการปรับฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นสัญญาณความร้อนแรงของทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาส 1/60 โดยยังคงต้องจับตามองสถานการณ์ต่างประเทศและการดำเนินนโยบายทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ
"แม้เศรษบกิจโลกจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ่น แต่สิ่งที่ต้องจับตาในปี 60 นั้น ตือ การเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือทรัมป์ ที่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ขยายตัวได้กีว่าคาด ,นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกที่ยังคงไม่สอดคล้องกัน ซึ่งส่งผลให้ยังมีผลกระทบจากการไหลของเงินทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีน ,แนวโน้มการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศสมาชิกที่เหลือ ,ความตกลงของกลุ่มโอเปคในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ และความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มบานปลายไปยังภูมิภาคอื่น"
สำหรับหมวดธุรกิจที่นักลงทุนเห็นว่าน่าสนใจมากที่สุดนั้น นักลงทุนรายบุคคล มองว่าเป็นหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ ตามด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสถาบันในประเทศ มองว่าหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมีความน่าสนใจมากที่สุด รองลงมาคือ หมวดธนาคาร และบริการรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่ต่างชาติส่วนใหญ่มองว่า หมวดบริการรับเหมาก่อสร้างมีความสนใจมากที่สุด รองมาคือ หมวดแฟชั่น ,หมวดธนาคาร ,วัสดุก่อสร้าง และสื่อและสิ่งพิมพ์
ด้านหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจลงทุน นักลงทุนรายบุคคล มองว่าหมวดแฟชั่นไม่น่าสนใจที่สุด ตามด้วยหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ และหมวดธุรกิจการเกษตร ,กลุ่มสถาบันในประเทศ เชื่อว่า หมวดธุรกิจด้านสื่อและสิ่งพิมพ์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามมาด้วยหมวดแฟชั่น และต่างชาติ มองว่าหมวดแฟชั่นยังเป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน รองลงมาคือหมวดธนาคาร พลังงาน พาณิชย์ และพลังงานและสาธารณูปโภค