นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินตลาดหุ้นไทยในวันนี้ว่า การเข็นมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจแต่ปัจจัยต่างประเทศยังดูคลุมเครือ คาดว่าจะยังไม่มีอะไรที่จะพลิกให้นักลงทุนกลับมาไล่ซื้อหุ้นจนผ่าน 1,575 ขึ้นไปได้ แต่ด้วยเย็นวานนี้ (18 ม.ค.) SET Index ปิดลดลงมากผิดปกติ คือลงแรงช่วงปลาย มาปิดที่ 1560.83 จุด ลดลง 6.01 จุด จากที่อยู่ในแดนบวกมาเกือบตลอดวัน วันนี้จึงคาดว่าดัชนีฯน่าจะมีการ rebound ในช่วงเปิดตลาด แต่ยืนได้หรือไม่อยู่ที่ตลาดต่างประเทศและราคาน้ำมัน
"ตลาดช่วงยังอยู่ในช่วงของการพักตัว นักลงทุนควรพิจารณาเลือกขายทำกำไรหุ้นที่ขึ้นมามากๆ หุ้นที่มีรายได้จากการส่งออกยังเป็นลบ เนื่องจากผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เป็นความเสี่ยงของธุรกิจ การเข้าลงทุนในวันนี้ ควรเลือกตัวที่มีข่าวบวกและเล่นสั้นๆไว้ก่อน และควรดูตลาดต่างประเทศประกอบไปด้วย
รายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวดี และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจไปในทางเดียวกันกับรายงานที่ออกมา เป็นผลให้ค่าเงินดอลล่าร์ปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือตลาดตีความในเรื่อง เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะมีการปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้หรือไม่ เราคาดว่าคงต้องรอดูการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐก่อน และคืนที่ผ่านมาตัวแปรที่ผกผันกับค่าดอลลาร์ คือ ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นลบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดย Dollar Index เช้านี้ อยู่ที่ 101.35 จุด สูงขึ้นจากวันที่ 17 ม.ค. 1.0%
ทั้งนี้ สำหรับการเก็งกำไรช่วงสั้น หุ้นที่คาดว่าอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุน อาทิ BJC,STEC,TVO,LOXLEY,BKD มองกรอบดัชนีวันนี้ที่ 1,553-1,568 จุด
วันนี้ ตลาดจะรอดูการกล่าวสุนทรพจน์ ครั้งที่สองของนาง Yellen ที่ Stanford Institute ขณะที่ปัจจัยลบต่อตลาดตัวเดิม คือ นโยบายของนายทรัมป์ที่เริ่มเตรียมการเจรจาการค้า โดยจีนเป็นเป้าหมายสำคัญ ยังเป็นตัวกดดันตลาด และความกังวลต่อ BRExit คาดจะยังมีอยู่ในตลาด ประเมินว่าด้วยความกังวลนี้เอง โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จะทำให้นักลงทุนยังซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยความระมัดระวัง เงินที่ไหลเข้าตลาดเอเชียส่วนใหญ่ไปเข้าที่ตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น
ด้านราคาน้ำมันดิบ รายงานของ EIA ที่ระบุว่าผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. เป็นสัญญาณว่าผู้ผลิตน้ำมันจาก Shale Oil ที่มีต้นทุนต่ำกำลังกลับเข้ามาในตลาด ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงราคาน้ำมันดิบ WTI ไม่ให้ขึ้นไปเกิน 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ล่าสุด 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) อย่างไรก็ตาม การประชุมผู้ผลิตน้ำมัน ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ หากกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ (แผนลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ก็อาจหนุนราคาน้ำมัน ให้วิ่งเข้าใกล้ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้