นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในบมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เสนอตัวพร้อมกับคณะรวม 7 คนเข้าเป็นกรรมการ IFEC เพื่อให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 25 ม.ค.60 พิจารณาอนุมัติแต่งตั้ง หลังจากที่ทีมผู้บริหารชุดปัจจุบันเสนอรายชื่อกรรมการชุดใหม่ 5 รายเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค.60 นายทวิช ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ถือหุ้น IFEC ในสัดส่วน 10.21%
รายชื่อของกรรมการทั้ง 7 คนที่นายทวิชจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากนายทวิชเอง ยังประกอบด้วย พล.อ.สำเภา ชูศรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก, พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย (TMB) , รศ.ประนอม โฆวินวิพัฒน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายปริญญา วิญญรัตน์ กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยเทพรส และ นายพิชิต สินพัฒนสกุล กรรมการผรู้จัดการ ประธานกรรมการบริษัท และกรรมอิสระ บริษัท บ้านสินทรัพย์
“ผมอยากเชิญชวนให้นักลงทุนรายย่อยเข้าร่วมประชุมวิสามัญในครั้งนี้ พร้อมกับการใช้สิทธิโหวตให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหาร ซึ่งผมได้ทาบทามผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามานั่งในตำแหน่งคณะกรรมการ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทฯ เพราะผมมีความเชื่อมั่นในธุรกิจของ IFEC "นายทวิช กล่าว
ขณะที่รายชื่อคณะกรรมการที่ทีมผู้บริหารชุดปัจจุบันที่นำโดย นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท เสนอชื่อไว้ก่อนหน้านี้ 5 ราย ประกอบด้วยนายพีรธัช สุขพงษ์ ,นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ,นายสุเมธ สุทธภักติ ,นายพิชญะ อุทัยรัตน์ และนายธวัช ไทรราหู
นายทวิช มั่นใจว่า ทีมกรรมการชุดใหม่ที่ตนเองเป็นผู้เสนอรายชื่อในวันนี้จะได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น IFEC ในวันที่ 25 ม.ค.อย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการชุดใหม่ที่คัดเลือกมาตั้งใจจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับผู้ถือหุ้น รวมถึงปัจจุบัน กลุ่มเตชะนาวากุล ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านหุ้น หรือมากกว่า 15% ของทุนจดทะเบียน
สำหรับการเข้ามาถือหุ้นใน IFEC โดยส่วนตัวได้เข้ามาถือหุ้นตั้งเมื่อช่วงกลางปี 59 โดยมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายเดิมเสนอขายหุ้นให้เป็นจำนวนกว่า 30 ล้านหุ้น ที่ราคาต้นทุนราว 6 บาท สาเหตุที่เข้ามาลงทุนใน IFEC เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพการดำเนินธุรกิจทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 40 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 20 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังมีกิจการโรงแรมดาราเทวี ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท
"เรามีนักลงทุนทั้งหมดกว่า 2.8 หมื่นราย ซึ่งถือว่าเยอะมาก และด้วยศักยภาพที่ทาง IFEC มีอยู่คือ มีทรัพย์สินถึง 1.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าหนี้สินที่อยู่เพียง 8 พันล้านบาท ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายหนี้ได้ตามแผน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ และสร้างความโปร่งใส และการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งผมก็ขอเชิญชวนให้เข้ามาร่วมประชุมวิสามัญในครั้งนี้ เพื่อที่จะให้วาระการประชุมผ่านได้ด้วยดี และขับเคลื่อนบริษัทฯได้ต่อไป"นายทวิช กล่าว
ทั้งนี้ หากได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ พร้อมที่จะชำระตั๋ว B/E ก้อนแรกภายในวันที่ 26 ม.ค.โดยมีตั๋ว B/E ของ บลจ.โซลาริส ที่ต้องชำระ 200 ล้านบาท และยืนยันว่าจะไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E อีก เพราะหากผิดนัดชำระเกิน 500 ล้านบาทจะทำให้เงินกู้ระยะกลางที่มีอยู่กว่า 3 พันล้านบาท ต้องถูกเรียกคืนจากกลุ่มเจ้าหนี้ตามกฎหมาย
โดยเบื้องต้นตั้งเป้าภายใน 1 เดือนจะสรุปแผนการชำระหนี้ระยะสั้นทั้งหมด โดยมองระยะสั้นที่สุดจะเป็นการยืมเงินระยะสั้นจากกรรมการ และระยะต่อไปจะพิจารณาหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างชาติ ประมาณ 1-2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยืนยันว่าจะไม่ใช้แนวทางการเพิ่มทุนมาใช้ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ ส่วนตั๋ว B/E ที่ผิดชำระก่อนหน้านี้มูลค่า 300 ล้านบาทจะมีการพิจารณาหาแนวทางต่อไป
ขณะที่แผนการดำเนินการระยะยาวนั้นยังคงต้องใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์เข้าไปพิจารณาถึงทรัพย์สินต่างๆที่มีในปัจจุบันว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมดาราเทวี อาจใช้วิธีการขายสินทรัพย์ หรือหาโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งทิศทางการดำเนินงานหลักยังคงเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่ยอมรับมีความสนใจการลงทุนในธุรกิจอื่น อย่างไรก็ตามคาดว่าแผนการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
นายทวิช กล่าวว่า ทีมผู้บริหารชุดใหม่พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ อีกทั้งยังเตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารชุดเดิมทั้งหมด เพื่อความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้น เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างทีมผู้บริหารชุดปัจจุบัน และอดีตผู้บริหาร ทำให้มีความสับสนในข้อมูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องเร่งสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับ IFEC ที่พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การบริหารงานของทีมผู้บริหารมืออาชีพชุดใหม่ที่ตั้งใจเข้ามาพลิกฟื้นธุรกิจ IFEC อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทีมผู้บริหารชุดปัจจุบันและอดีตผู้บริหารนั้น นายทวิช กล่าวว่า ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร แต่หลังจากที่เข้ามาถือหุ้นแล้วบริษัทก็เริ่มมีผลขาดทุน และคณะกรรมการได้ทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง จากนั้นต่อมาก็มีปัญหาในเรื่องของการลงนามในเอกสารธุรกรรมสำคัญ ซึ่งส่วนตัวก็มีความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากนี้จะมีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ หากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการชุดใหม่แล้วมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีแนวคิดและแนวทางการทำงานในทางเดียวกันก็พร้อมที่จะให้เข้ามาช่วยกันทำงานต่อไป
"ผมรู้จักทั้ง 2 ฝ่าย แต่ที่ผ่านมาผมคุยกับคุณสิทธิชัย (พรทรัพย์อนันต์) เสียมากกว่า เพราะสามารถให้ข้อมูลตัวเลขต่างๆได้ค่อนข้างดี แต่อีกฝั่งให้ข้อมูลไม่ค่อยได้ก็เลยไม่ได้คุย ซึ่งหากผมได้เป็นคณะกรรมการผมก็พร้อมที่จะเปิดกว้างทั้ง 2 ฝ่าย หากมีแนวทางเดียวกัน ก็เข้ามาบริหารงานด้วยกัน"นายทวิช กล่าว