นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) คาดรายได้ปี 60 มีแนวโน้มดีกว่าปีก่อน ตามกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่ม ขณะที่มุ่งเน้นการมองหาลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจา 3-4 โครงการ หวังจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
พร้อมกันนั้นบริษัทยังเตรียมขยายลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม.เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองช่วยลดต้นทุน หลังมองตลาดยังดี โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในกลุ่มโรงงาน 20-25 เมกะวัตต์ (MW) ในปีนี้
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยจำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิต 85.5 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์รูฟท็อป 14 โครงการ กำลังการผลิตราว 14 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ กำลังการผลิตราว 1 เมกะวัตต์ และบริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้ 3 โครงการ กำลังการผลิต 22.2 เมกะวัตต์ที่มีกำหนด COD ในช่วงครึ่งแรกของปี 61 ดังนั้น คาดจะช่วยสนุบสนุนต่อการเติบโตของรายได้บริษัท
ส่วนการขยายโซลาร์ฟาร์มในประเทศเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากทางภาครัฐบาลก่อน
"การขยายโซลาร์ฟาร์มในไทยตอนนี้ เรามองว่ายังไม่มีแผนที่ชัดเจนมากนัก เพราะภาครัฐยังไม่ประกาศนโยบายโครงการใหม่ออกมา ซึ่งเราเองค่อนข้างมีความพร้อม เพียงแต่ต้องรอความชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ในระยะต่อไป ว่าจะเป็นรูปแบบจับฉลาก หรือเปิดประมูล และอัตรารับซื้อไฟเฉลี่ยของโซลาร์ฟาร์ม ปัจจุบันอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วยเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ในแง่ของต้นทุนลดลงจาก 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ มาอยู่ที่ 34-35 ล้านบาท ทำให้ IRR อยู่ที่ประมาณ 13-15% ซึ่งยังเป็นจุดที่บริษัทเชื่อว่าคุ้มค่าในการลงทุน"นางสาวแคทลีน กล่าว
นางสาวแคทลีน กล่าวด้วยว่า บริษัทมีแผนจะขยายไปยังธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป own-use หรือ โซลาร์รูฟท็อปที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จากหลังการสำรวจ 2,500 โรงงานในไทย พบว่าโรงงานส่วนใหญ่ใช้ไฟเกิน 10 ล้านบาท/เดือน หากหันมาทำโซลาร์รูฟท็อป จะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 5-10% โดยปีนี้ตั้งเป้าจะขยายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 20-25 เมกะวัตต์ และภายใน 3 ปี จะให้ครบ 100 เมกะวัตต์ หรือจำนวน 40-50 โรงงาน
สำหรับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ บริษัทยังเน้นการลงทุนในญี่ปุ่น โดยอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโซลาร์ฟาร์มใหม่ 3-4 แห่ง โดยสนใจทั้งโครงการที่สร้างเสร็จแล้วและโครงการที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่กว่าที่เคยเคยลงทุนมา โดยหวังว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนจากนี้เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ โดยจะมีการเข้าซื้อที่ดินสนามกอล์ฟสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งมาใช้เป็นที่ตั้งโครงการ ขณะที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นปีละไม่ต่ำกว่า 40-60 เมกะวัตต์
โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนนั้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ได้ขออนุมัติวงเงินการออกหุ้นกู้จากคณะกรรมการ 3,000 ล้านบาท และได้ออกไปแล้ว 2,050 ล้านบาท โดยยังใช้ลงทุนไปไม่ถึง 50% ทำให้มีโอกาสออกเพิ่มเติมได้อีกมากพอสมควร
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นถึง 100 เมกะวัตต์ภายในปี 62 ซึ่งจะสร้างสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 34% จากในปี 59 ที่มีสัดส่วนรายได้จากญี่ปุ่น 13% โดยมีใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) ในญี่ปุ่นแล้ว 40 เมกะวัตต์ จำนวน 9 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่ COD แล้ว 4 โครงการ รวม 5.24 เมกะวัตต์ ปีนี้จะ COD เพิ่มอีก 2 โครงการ รวม 3.24 เมกะวัตต์ และในปี 61 จะ COD อีก 1 โครงการ กำลังผลิต 13.50 เมกะวัตต์
นอกจากนั้น บริษัทยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งเคยมีผู้เสนอโครงการในประเทศมาให้บริษัทพิจารณา ขณะที่จะศึกษาการลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภทอื่น ๆ ในญี่ปุ่น เช่น ชีวมวล ชีวภาพ และพลังงานลม เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นมีความแน่นอนมากกว่าในไทย รวมทั้งศึกษาโอกาสการขยายธุรกิจพลังงานไปยังประเทศอื่น ๆ ของอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์
นางสาวแคทลีน กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 59 บริษัทคาดกำไรสุทธิคงจะไม่เติบโตดีเหมือนปี 58 เนื่องจากเป็นปีที่มีฝนมาก ทำให้มีผลต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พอสมควร อย่างไรก็ตามยังได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจพลังงานทดแทนที่ยังถือเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงมากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น