นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้น่าจะยังคงผันผวนหลังจากคำปราศรัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเน้นนโยบายปกป้องทางการค้าและประชานิยมเช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เตรียมเจรจา NAFTA ใหม่ และ หยุด TTP รวมทั้งสนับสนุนซื้อสินค้าสหรัฐและการผลิตและการว่าจ้างภายในประเทศ แต่ไม่ได้กล่าวถึงนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเผชิญกับการประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง จึงคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่อยู่ในลักษณะมีกรอบจำกัดมากกว่า
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลประกอบการไตรมาส 4/16 ของบริษัทในสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่าจะออกมาเป็นบวกเป็นปีแรก โดยนักวิเคราะห์ใน Wall Street คาดว่าจะเติบโตได้เฉลี่ย 6.3% YoY ซึ่งถ้าโตต่ำกว่านี้อาจทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง ด้านผลประกอบการไตรมาส 4/59 ของไทย กลุ่มธนาคารที่ประกาศไปแล้วออกมาค่อนดีตามคาด แต่ต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทที่เหลือต่อไป
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ คาดว่า SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,548-1,578 จุด ด้านกลยุทธ์การลงทุนให้เน้นลงทุนในหุ้นที่มี Theme ชัดเจนที่ไม่ได้รับผลกระทบกับนโยบายปกป้องทางการค้าและมีแนวโน้มปัจจัยพื้นฐานที่สดใส
ในสัปดาห์นี้ Trading Idea แนะนำซื้อ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ราคาเป้าหมายปี 60 อยู่ที่ 170 บาท เนื่องจากผลประกอบการปี 59 ที่น่าประทับใจ คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและแนวโน้มในอนาคตที่ยังดูสดใส โดยกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 เพิ่มขึ้น 19.7% YoY อยู่ที่ 640 ล้านบาท ทำให้กำไรทั้งปี 59 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% YoY
การเติบโตดังกล่าวหนุนโดยช่วงไฮซีซั่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ และแคมเปญทางการตลาด ซึ่งส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของ KTC เพิ่มขึ้น 13% YoY โดยที่พอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12% YoY และพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 18% YoY แม้พอร์ตสินเชื่อจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทยังสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้ดี โดยที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 1.66% ลดลงจาก 1.86% ในไตรมาส 3/59 และ 2.06% ในปี 58 ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่สูงกว่า 450%
"คาดว่าแนวโน้มการเติบโตเช่นนี้จะยังดำเนินต่อไป ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญจะมาจากกลยุทธ์ส่งเสริมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้นและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย โดยได้ประมาณการพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทในปี 60 จะเติบโต 12% สูงกว่าเป้าของ KTC เล็กน้อยที่ 10% และคาดกำไรสุทธิจะเติบโต 19.7% ในปี 60 และ 21.9% ในปี 61"นายวรุตม์กล่าว
ด้าน Technical รูปแบบราคา (Price Pattern) ของ KTC ยังมีแนวโน้มหลักอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily & Monthly Buy Signal รอเพียงการกลับมาเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่เท่านั้น ก็จะทำให้ Price Pattern ของ KTC เข้าสู่ความแข็งแกร่งอย่างเต็มรูปแบบ โดยหาก Price Pattern ของ KTC ปิดตลาดรายสัปดาห์ได้เหนือ 140 บาท ก็จะทำให้กลับมาเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ KTC คาดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทดสอบเป้าหมายถัดไปของการทำ New High ที่ 155 บาทอีกครั้ง โดย KTC มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 135.50 บาท แนวต้าน 140.00, 141.00, และ 143.00 บาท และแนวรับ 138.50, 137.50, และ 135.50 บาท