บมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้รวมไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) จากปีก่อนที่มี 32.4 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันได้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นแล้ว มูลค่า 3-4 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด ช่วยหนุนผลการดำเนินงาน
นอกจากนี้ คาดว่าจะสามารถนำ บมจ.เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ (CE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดูแลธุรกิจพลังงาน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงไตรมาส 2/60 ด้วย
นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร CHOW เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายเหล็ก 2.2 พันล้านบาท หรือปริมาณขายที่ราว 1.5 แสนตัน จากปีก่อนที่มีปริมาณขายเหล็ก 1.1 แสนตัน และรายได้จากธุรกิจพลังงาน 550 ล้านบาท เป็นการรับรู้รายได้เต็มปีของกำลังการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เต็มปีที่ 42 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิต 32.4 เมกะวัตต์
บริษัทยังตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ที่จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชได้ โดยทั้งหมดเป็นโครงการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นที่จะทยอย COD ช่วงไตรมาส 2-4 ของปี 60 รวมกว่า 58 เมกะวัตต์ และยังเตรียมงบลงทุนไว้ราว 3 พันล้านบาทเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากการออกหุ้นกู้มูลค่า 3 พันล้านบาท อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 5.5% โดยจะเสนอขายวนวันที่ 6-9 ก.พ. นี้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังจะมีรายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยปัจจุบันมีงานอยู่ในมือ (Backlog) ที่จะรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด 3-4 พันล้านบาท
"จริงๆเราก็อยากกลับมาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากกว่า แต่ด้วยนโยบายภาครัฐฯที่ยังไม่ชัดเจนเราจึงต้องหาแหล่งที่จะเข้าไปลงทุนก่อน ซึ่งเราก็ยังคงมุ่งเน้นการเข้าไปลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ซึ่งเท่าที่เราเข้าไปหาข้อมูลมีใบ PPA ในตลาดถึง 8 หมื่นเมกะวัตต์ เรามองว่าสามารถรองรับการลงทุนของเราได้อีกหลายปี นอกจากนี้เรายังเข้าไปศึกษาการลงทุนเกี่ยวกับไฟฟ้าจากขยะและลัพงงานลมในญี่น และมองหาโอกาสการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมด้วย แต่หากภาครัฐ (ไทย) มีความชัดเจนเกี่ยวกับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าแล้ว เราก็พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นด้วย"นายอนาวิล กล่าว
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) นั้น บริษัทฯยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการผิดนัดชำระแต่อย่างได โดยช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีตั๋ว B/E ที่ครบกำหนดชำระอีกมูลค่า 2.1-2.2 พันล้านบาท โดยได้มีการเจรจากับสถาบันทางการเงินและได้รับวงเงินรองรับการชำระเงินแล้ว
นายอนาวิล กล่าวต่อว่า ในช่วงไตรมาส 2/60 คาดว่าจะสามารถนำบริษัทลูก คือ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CE) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ โดยจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 380 ล้านหุ้น โดยมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 0.50 บาท เงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วนจะใช้คืนเงินกู้ และลงทุนโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากการระดมทุนของ CE แล้วเสร็จจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงราว 50% จากที่ช่วงไตรมาส 3/59 ระดับ D/E สูงถึง 6.79 เท่า
นอกจากนั้น หลังจากการระดมทุนของ CE และมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทก็ได้มองแนวทางการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะระดมทุนมาใช้ขยายโครงการใหม่ๆ ในระยะต่อไป โดยจะนำโรงไฟฟ้าขนาดไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ขายเป็นสินทรัพย์ของกองทุน โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งกองทุนในประเทศไทยหรือญี่ปุ่น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 61
"เราคงจะใช้เครื่องมือทางการเงินหลายๆทางเพื่อที่จะนำมาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ การนำ CE เข้าตลาด รวมไปถึงการตั้งกองทุน และการกู้จากสถาบันการเงิน โดยจะมองในแนวทางที่เหมาะสมที่สุด"นายอนาวิล กล่าว