นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ในกลุ่ม บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) กล่าวว่า บริษัทได้รับการยกเลิกสัญญาการขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ หลังจากเลยระยะเวลาการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.59 เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิค คือความล่าช้าในการประกาศเงื่อนไขประมวลหลักการปฏิบัติงาน (Code of Practice : CoP) จาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
แต่ล่าสุดทาง กกพ.ได้รับเรื่องการอุทธรณ์ของกลุ่มบริษัทเป็นที่เรียบร้อย และให้ขยายระยะเวลาการเซ็น PPA ออกไปอีก 290 วัน โดยยังต้องรอหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจาก กกพ.ก่อน
"เราได้รับยกเลิกสัญญาการขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์เพราะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ตามกำหนดเวลา เพราะมีปัญหาการพิจารณาเรื่อง CoP ที่มีความล่าช้า และล่าสุดทาง กกพ.ให้บริษัททำ EIA แทน CoP ซึ่งเราได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่ กกพ.และกกพ.ได้รับเรื่องอุทธรณ์ และขยายเวลาการเซ็น PPA ออกไปอีก 290 วัน แต่ยังต้องรอหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจากกกพ.ก่อน"นายวรวิทย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะดังกล่าวตั้งอยู่ใน จ.สระบุรี มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.จำนวน 90 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีแผนจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 1/60
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษ กกกพ.กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ทางกลุ่ม TPIPL ได้ยื่นเรื่องการดำเนินการตามหลัก CoP มาให้ทางกกพ.พิจารณา ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจาก กกพ.ก่อนที่จะเซ็นสัญญา PPA แต่เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าของกลุ่ม TPIPL นั้นมีการปล่อยมลภาวะเกินเกณฑ์ที่กำหนดในบางช่วง ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การทำ CoP แต่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แทน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายระยะเวลาที่จะต้องเซ็นสัญญา PPA กับกฟผ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกลุ่ม TPIPL ก็ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ดังกล่าวมายัง กกพ.เพื่อพิจารณาแล้ว
"สมัยก่อนโรงไฟฟ้าขยะที่เกิน 10 เมกะวัตต์จะต้องทำ EIA ช่วงปีที่แล้ว ทางสผ. (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม) บอกว่าไม่ต้องทำ EIA แล้ว แต่ให้ กกพ.ออก CoP เป็นข้อปฏิบัติ ซึ่งก็เหมือนการทำ EIA ย่อย ๆ พอประกาศออกมาทางทีพีไอฯ ซึ่งทำ EIA มาได้ครึ่งทางก็หันมาทำ CoP แต่ประกาศของ สผ.มีการควบคุมพื้นที่ที่ไม่ต้องทำ EIA แต่ทำ CoP ได้นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่วัดมลพิษทางอากาศรอบ ๆ ต้องไม่เกิน 80% ของมลพิษที่ระบายออกได้ ซึ่งพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงต้องทำ EIA ถ้าไม่เสี่ยงก็ทำ CoP ได้ ซึ่งกรณีนี้ที่ปรึกษาของเขาได้ไปวัดมลพิษมีบางช่วงที่เกินมา 10-15 นาที เข้าเกณฑ์ที่ต้องทำ EIA เราจึงมีมติให้เขากลับไปทำ EIA ทำให้มีความล่าช้าและลงนาม PPA ไม่ทันตามกำหนด"นายวีระพล กล่าว
อนึ่ง โรงไฟฟ้าขยะของกลุ่ม TPIPL ดำเนินการโดยบมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก และอยู่ระหว่างการจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 150 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอีก 290 เมกะวัตต์
ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 60 ซึ่งเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าในปัจจุบันจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 440 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาด 70 เมกะวัตต์ ติดตั้งแล้วเสร็จและดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงราวไตรมาสแรกปี 60 บริษัทมีแผนนำโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งขนาด 30 เมกะวัตต์ ที่มีอยู่เดิมมารวมกัน เพื่อให้เป็นโรงไฟฟ้าขยะขนาด 100 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะจำหน่ายให้แก่กฟผ. จำนวน 90 เมกะวัตต์
ราคาหุ้น TPIPL ช่วงบ่ายอยู่ที่ 2.54 บาท ลดลง 0.22 บาท หรือ 7.97% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 0.66%