นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยในงานสัมมนา"ทิศทางตลาดหุ้นหลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ"ว่า ความเชื่อมั่นในนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีมากขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังมีความกังวลเล็กน้อยจากการที่นายทรัมป์ไม่ใช่นักการเมืองโดยตรง และยังมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเมินว่าในปีนี้เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ นโยบายของทรัมป์ในช่วงหาเสียง ไม่น่าจะนำมาดำเนินการได้ทั้งหมด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในช่วงสั้นๆ และเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่น่าจะเน้นไปที่นโยบายที่มีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอันดับแรก เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่มาเป็นเวลานานแล้ว
รวมทั้งมาตรการการลดภาษี มองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะรีบดำเนินการ เพราะเป็นวสิ่งที่จะทำให้บริษัทในสหรัฐฯ สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน หรือขายของในราคาที่ถูกลง เนื่องจากมีภาระภาษีน้อยลง ส่งผลให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทรัมป์ต้องการให้มาตการดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ดี
"ทุกคนยังเป็นห่วงว่านโยบายของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้จริงหรือไม่ หรือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งจุดที่เราต้องดูคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯโตเต็มศักยภาพแล้วหรือยัง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯก็ออกมาประเมินว่า ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งก็หมายความว่ายังมีช่องว่างที่จะเพิ่มนโยบายเข้าไปได้อีก โดยไม่เกิดเงินเฟ้อ จากกำลังการผลิตที่ยังเหลือ การจ้างงาน จากขณะนี้มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.7% และการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ ปีนี้จึงมองว่าเงินเฟ้อจะยังไม่เกิด หรืออยู่ในระดับ 2% ซึ่งการลงทุนในหุ้นปีนี้น่าจะสดใส"นายไพบูลย์ กล่าว
นายสุกิจ อุดมสิริกุล กรรมการผู้จัดการ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดหุ้นทั่วโลก จะเห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น เป็นต้น ซึ่งการเติบโตดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อตลาดหุ้น ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเริ่มกลับมาจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนโยบายต่างๆของสหรัฐฯ และการติดตามข้อมูลต่างๆผ่านเว็บไซต์ของทำเนียบขาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก
ขณะที่การลงทุนบนความผันผวนนั้น นักลงทุนควรหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นเมื่ออ่อนตัว และโฟกัสในบริษัทที่มีการเติบโตท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ,ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ เรื่องของค่าเงินดอลลาร์ที่สะท้อนถึงดัชนีความเชื่อมั่นในนายทรัมป์ ซึ่งหากแข็งค่าก็จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นมีมากขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อดอลลาร์แข็งค่า สกุลเงินบาทก็จะอ่อนค่า ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายน่าจะชะลอตัวลงบ้าง แต่อย่างไรก็ตามประเมินทิศทาง Fund Flow ปีนี้จะเป็นใน 2 ทาง คือ ไม่เข้าและไม่ออกไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน โดยมองตลาดการเงินในขณะนี้อยู่ในช่วงของการปรับตัวจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าและออกเป็นระยะ ซึ่งนักลงทุนยังรอดูนโยบายของนายทรัมป์ว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน และน่าจะเป็นจุดที่กลับมามีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยต่อไป
สำหรับบริษัทที่น่าจะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายลดภาษีของนายทรัมป์ ในแง่ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จะมี บมจ.ไทยยูเนียน กรุ๊ป (TU) ,บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) และบมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นต้น ซึ่งหากมีการลดภาษีจริง จะส่งให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น และมองว่ามาตรการกีดกันทางการค้าไม่น่าจะกระทบไทยโดยตรง เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งหากไทยจะได้รับผลกระทบดังกล่าวจะเป็นทางอ้อมมากกว่า
"จุดที่น่าจะต้องมองเป็นความเสี่ยง ต้องกลับไปดูที่จีนมากกว่า เนื่องจากเป้าหมายของสหรัฐฯ คือจีน ซึ่งจีนยังต้องพึ่งพาการส่งออกอยู่ ทำให้อาจจะเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะชะลอตัวลง และอาจจะกระทบกับเรา ในเชิงของการค้าระหว่างไทยกับจีน จากการบริโภค ซึ่งน่าจะเป็นความเสี่ยงทางอ้อมมากกว่า"นายสุกิจ กล่าว
สิ่งที่นักลงทุนควรจับตา คือ เรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และธุรกิจเดินเรือ ที่น่าจะมีโอกาสในการกลับมาเติบโต รวมทั้งสินค้าวัสดุก่อสร้างน่าจะมีการฟื้นตัวได้จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการลงทุนโครงการของภาคเอกชน
นางสาวธิดาสิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า มีมุมเป็นบวกต่อนโยบายของนายทรัมป์ ซึ่งมาตรการที่จะดำเนิการได้ง่ายและรวดเร็ว คือ การลดภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะที่นโยบายโครงสร้างพื้นฐานของทรัมป์เป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันสหรัฐเองก็มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงมาก และยังมีนโยบายในการลดการจัดเก็บภาษีลงด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่
ส่วนมาตรการกีดกันการค้า มองว่าจีนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากปัจจุบันจีนมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐเพียง 4% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดจะกระทบต่อจีดีพีจีนเพียงแค่ 0.1% จึงน่าจะเป็นนโยบายเพื่อเรียกความสนใจจากจีนให้หันมาเจรจากับสหรัฐเพื่อสร้างข้อตกลงกันใหม่มากกว่า
หุ้นน่าลงทุนในช่วงนี้ คือ หุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ยาง น้ำตาล และพลังงาน ซึ่งยังมีโอกาสพอสมควร และ หุ้นที่ได้รับอานิสงค์ จากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซียพลัส กล่าวว่า หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนในช่วงต่อจากนี้ คือ PTTGC เนื่องจากเป็นหุ้นที่ยัง laggard จากกลุ่ม ขณะที่คาดว่าในปี 60 จะเติบโต 20% และจ่ายปันผลที่ 4%, IVL เข้าไปลงทุนในยุโรป และคาดว่ากำไรในปี 60 จะเติบโตขึ้น, LH คาดว่าจะจ่ายปันผลประมาณ 8%, TCAP เพราะมูลค่าหุ้นยังถูก ส่วนปันผลน่าจะจ่ายที่ 5%, ASK คาดว่าจะจ่ายปันผลประมาณ 7% และ SNC น่าจะจ่ายปันผลประมาณ 6%
นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนส่วนบุคคล บล. กสิกรไทย กล่าวว่า นโยบายของนายทรัมป์จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่เฟดกำหนดเพดานเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ทำให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งภายในปีนี้ และจะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเอเชียอีกด้วย แต่จะกระทบตลาดหุ้นไทยเล็กน้อย เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
สำหรับในปีนี้คาดว่าตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ดูพื้นฐานของบริษัทแต่ละรายเป็นหลักว่ามีการเติบโตหรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าหุ้นโภคภัณฑ์จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในช่วงนี้ สำหรับหุ้นที่แนะนำให้นักลงทุนซื้อ ได้แก่ PTT, PTTEP และ BANPU
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า จะต้องจับตาการนำนโยบายของนายทรัมป์มาใช้ได้เร็วเพียงใดในช่วง 100 วันหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะมาตรการลดภาษี ซึ่งหากนำมาใช้ได้เร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้ทันทีในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ มองว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคส์ และหุ้นไทยที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดภาษี จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ PTTGC, TU, STA, TMT, SAWAD, MTLS สำหรับหุ้นที่เล่นระยะสั้น ได้แก่ WORK และ ADVANC