นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม (AKR) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 60 จะพลิกมีกำไรสุทธิ โดยคาดหวังจะเริ่มเห็นกำไรตั้งแต่ไตรมาส 1/60 จากการทยอยส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ราว 700 ล้านบาทก็จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดในปีนี้ พร้อมกับการรุกประมูลงานใหม่เพิ่มเติมตามตลาดหม้อแปลงที่จะกลับมาเติบโตราว 50% และการรุกตลาดผลิตไฟฟ้าประเภทโซลาร์รูฟท็อป สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงาน
บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปีนี้ที่ระดับ 2.5 พันล้านบาท เติบโตกว่า 50% จากปีก่อนที่คาดว่าจะทำได้เพียง 1.6 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ไว้ระดับกว่า 2 พันล้านบาท เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไม่มีงานประมูลของการไฟฟ้าออกมาเลย ทำให้รายได้มาจากการขายหม้อแปลงเพียง 1.5 พันล้านบาท และงานเกี่ยวกับโซลาร์ 100 ล้านบาท ขณะที่ในงวดไตรมาส 4/59 ยังสามารถส่งมอบหม้อแปลงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และต้นทุนวัตถุดิบยังสูง ทำให้คาดว่าผลประกอบการจะยังขาดทุน และทำให้ทั้งปี 59 มีผลขาดทุนสุทธิ โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 59 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 22.65 ล้านบาท
"3 ไตรมาส ของปี 59 ไม่มีงานใหม่เข้ามาเลย ทำให้ขาดทุน พอไตรมาส 4 กฟภ.เปิดประมูลหม้อแปลง 3 หมื่นลูก เรารับได้แค่ 5,000 ลูก เพราะกำลังการผลิตปัจจุบันอยูที่ 8,000-10,000 ลูก/ปี กลัวส่งมอบไม่ทันจึงรับได้แค่ 5,000 ลูก ก็ส่งมอบในไตรมาส 4 ได้นิดเดียว ก็เลื่อนมาปีนี้ ทำให้ทั้งปี 59 ยังขาดทุนอยู่"นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับรายได้ในปีนี้จะมาจากธุรกิจหลักขายหม้อแปลงไฟฟ้าราว 1.9 พันล้านบาท ขณะที่อีกราว 600 ล้านบาท จะมาจากรายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ,การขายแผงโซลาร์เซลล์ โดยมี บมจ.เอสพีซีจี (SPGC) เป็นลูกค้าหลัก และรายได้จากการขายไฟฟ้า หลังโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ขนาด 3.35 เมกะวัตต์ (MW) เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อปลายปี 59 และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 1/60 ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บริษัทราว 26 ล้านบาท/ปี เป็นเวลาตามสัญญา 25 ปี โดยคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ 7-8
ในไตรมาส 1/60 บริษัทคาดหวังจะพลิกกลับมามีกำไร จากต้นทุนการผลิตหม้อแปลงที่ถูกลง รวมถึงจะทยอยส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 5,000 ลูก ขนาด 50-200 kva มูลค่า 400 ล้านบาท โดยได้เริ่มทยอยส่งมอบมาตั้งแต่ไตรมาส 4/59 ทำให้คงเหลือส่งมอบกว่า 3,000 ลูก คาดว่าจะส่งมอบได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 2/60 และการทยอยส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 300 ลูก ขนาด 225 kva ซึ่งเป็นหม้อแปลงขนาดใหญ่พิเศษ อัตโนมัติ มูลค่า 157 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าในปี 60 ซึ่งล่าสุดได้เปิดประมูลไปแล้วเมื่อปลายปีก่อน โดยมีปริมาณรวมอยู่ที่ 3 หมื่นลูก คิดเป็นการเติบโต 50% จากปี 58-59 ที่ไม่มีงานออกภาครัฐออกมาเลย โดยในปีที่แล้วตลาดหม้อแปลงอยู่ที่กว่า 1 หมื่นลูก โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 25%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 60 คาดว่ากฟภ.และกฟน.จะเปิดประมูลหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นงบของปีงบประมาณ 60 โดยบริษัทพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล ตลอดจนยังจะมีงานประมูลของภาคเอกชนเข้ามาเพิ่มเติมด้วย ก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีนี้
นายดนุชา กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลงานโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ด้วย รวมถึงการที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 60 ในวงเงินราว 2 พันล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรให้แต่ละหน่วยงานราชการในวงเงิน 50 ล้านบาท/แห่งเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการดำเนินการตามแผนพลังงานทดแทนนั้น ทางบริษัทก็จะเข้าไปเจรจากับหน่วยงานราชการเพื่อยื่นขอรับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่อไป
นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทยังจะรุกเข้าไปลงทุนในโครงการโครงการโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยปัจจุบันในประเทศมีโรงงานราว 3-4 แสนแห่ง บริษัทก็ตั้งเป้าหมายจะติดตั้งประมาณ 200-300 แห่งในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าจำนวนหนึ่งแล้ว ตั้งเป้าหมายจะติดตั้งได้ราว 100 แห่งในปีนี้ นอกจากนี้บริษัทก็จะทำโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานของตัวเองด้วย ขนาด 500 กิโลวัตต์ ใช้งบลงทุน 25 ล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน