BA ตั้งเป้ารายได้ปี 60 โต 10% ตามผู้โดยสาร แต่คาดกำไรสูสีปีก่อนจากราคาน้ำมันขึ้น, เปิดจุดบินจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 27, 2017 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ตั้งเป้ารายได้ปี 60 เติบโต 10% จากปี 59 ตามการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 13-15% มาเป็น 6.6 ล้านคน จาก 5.7 ล้านคนในปี 59 พร้อมคาดว่าปีนี้อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) จะสูงขึ้นมาที่ 72% จากปีก่อนอยู่ที่ 69% ขณะที่กำไรสุทธิปี 60 คาดใกล้เคียงปี 59 ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีการแข่งขันราคารุนแรง

บริษัทวางกลยุทธ์ขยายเส้นทางบินในแถบอาเซียน, จีน และอินเดียเพิ่มขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และเตรียมเปิดจุดบินใหม่ไปจีนเน้นเมืองเศรษฐกิจ เริ่มบิน ก.พ.60 ประเดิมเส้นทาง กรุงเทพ-กวางโจว ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-ฉงชิ่งบิน มี.ค.60 พร้อมเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิม เขื่อตลาดจีนยังเติบโตได้อีก และนโยบายรัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเข้มข้นต่อเนื่องหนุนนักท่องเที่ยวเติบโต

ปีนี้จะรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำ ใช้เงินลงทุนราว 1.2 พันล้านบาทจากงบลงทุนทั้งปี 2.5 พันล้านบาท ทำให้จำนวนฝูงบินสิ้นปี 60 อยู่ที่ 39 ลำ พร้อมกันนั้นยังเดินหน้ากลยุทธ์สร้างพันธมิตรสายการบินที่ทำการบินร่วม (Code Share) ปีนี้เจรจาเพิ่มอีก 2-3 สายการบิน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) คาดว่า จำนวนผู้โดยสารในปีนี้น่าจะเติบโต 13-15% และ load factor จะเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน นอกจากนั้นยังคาดว่าในปี 61-62 จำนวนผู้โดยสารและรายได้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับเดียวกับปี 60 ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเข้มข้นต่อเนื่องเป็นแรงหนุนนักท่องเที่ยวเติบโต

แต่ในแง่ของกำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จากที่เคยอยู่ในระดับต่ำในปี 59 ซึ่งทำให้ต้นทุนน้ำมันของบริษัทในปีที่แล้วลดลงราว 20-30% ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตได้ดี แต่ปีนี้นอกจากราคาน้ำมันปรับขึ้นแล้ว ยังมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ บริษัทประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้อยู่ในช่วง 55-60 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนอยู่ที่เฉลี่ยกว่า 40 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันสัดส่วน 50% ในไตรมาส 1-2 ของปี 60 แล้ว โดยนโยบายบริษัทให้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ 50-70%

อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทจะรักษารายได้ค่าโดยสาร/ที่นั่ง-กิโลเมตร(Passenger yield)ไม่ต่ำกว่า 4.95 บาท จากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 อยู่ที่ 4.99 บาท

"ทั้งจำนวนผู้โดยสาร และ load factor ทั้งสองอย่างคื การกระตุ้นการท่องเที่ยวข่วยได้มาก และเปิดจุดบินใหม่ในจีน การเพิ่มความถี่ ก็จะช่วยได้เพิ่มขึ้น ผมมองว่า Regional ยังเติบโตได้อีก ในปี 61-62 จำนวนผู้โดยสารก็ยังโตได้ 13-15% ต่อปี ปีที่แล้วเราโดมากกว่าที่เราคิด ราคาน้ำมันลดลง กว่า 20-30% ทำให้กำไรดีขึ้นกว่าคาด"นายพุฒิพงศ์ ให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง ช่วง 9 เดือนแรกปี 59 บริษัทมีรายได้ 15,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้โดยสารเติบโต 10% และมี load factor เฉลี่ยที่ 69.8% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,087.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทวางกลยุทธ์ขยายเส้นทางบินในแถบอาเซียน, จีน และอินเดียเพิ่มขึ้น เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในช่วง 3-5 ปีนี้ และมองหาการขยายการบริหารสนามบินในประเทศ

"ในช่วง 3-5 ปีนี้ เราคงจะยังไม่บินไปเส้นทางระหว่างประเทศ เรายังคงทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย (Regional) นี้ที่มีระยะการบิน 4 -5 ชั่วโมง อินเดีย จีนตอนใต้ มัลดีฟ และอาเซียน รวมทั้งตลาดในประเทศ (Domestic) เป็น Area ที่เราสร้างขึ้นมา รวมไปถึงสนามบินด้วย" นายพุฒิพงศ์ กล่าว

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังมองการเปิดจุดบินใหม่ในจีน เพราะนักท่องเที่ยวจีนมีศักยภาพและมีคุณภาพ ปัจจุบัน BA มีตลาดจีนน้อยมาก โดยสัดส่วนอยู่ที่ราว 4% ของจำนวนผู้โดยสารในปีที่แล้วเท่านั้น และแม้ว่าบริษัทจะทำตลาดจีนข้ากว่าคู่แข่ง แต่มองว่าตลาดจีนมีขนาดใหญ่มาก ทำให้บริษัทยังมีโอกาสที่จะดึงส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 37.2 ล้านคน/ปี เป็นนักท่องเที่ยวจีน 7-8 ล้านคน

ทั้งนี้ บริษัทโฟกัสตลาดจีนที่เป็นเมืองเศรษฐกิจและมีศักยภาพ เช่น กวางโจว ฉงชิ่ง เฉิงตู เป็นต้น โดยในเดือน ก.พ.60 จะเริ่มทำการบินเส้นทางบินใหม่ คือ สมุย-กวางโจว ทำการบินทุกวันในเดือน มี.ค.60 เปิดเส้นทางสมุย-ฉงชิ่ง ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ส่วนจุดบิน สมุย-เฉิงตู เปิดจุดบินเมื่อปลายปี 59 ทั้งนี้การไม่เลือกลงกรุงเทพ เพราะมีการแข่งขันสูง และธุรกิจบริหารสนามบินสมุยก็เติบโตด้วย

นอกจากนี้ จะปรับให้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินเดิม ได้แก่ กรุงเทพ -ดานัง จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ , กรุงเทพ - เวียงจันทน์ บินเพิ่มเป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์จากเดิม 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ , เชียงใหม่-สมุย บินวันละ 2 เที่ยวบินจากเดิม 1 เที่ยวบิน , เชียงใหม่-ภูเก็ต บินวันละ 2 เที่ยวบินจากเดิม 1 เที่ยวบิน และ สมุย-เฉิงตู จาก 4 เที่ยวบิน/ สัปดาห์เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์

และคาดว่าจะมีเปิดจุดบินใหม่เพิ่มอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ เกาะฟูก๊วกในเวียดนาม อยู่ระหว่างดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมจากเดิมจะเปิดในปีนี้ ส่วนเมืองโฮจิมินห์ยังไม่เปิดทำการบิน เพราะบริษัทพยายามจะไม่ลงเล่นแข่งขันราคามากเกินไป

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA มองว่า ความหนาแน่นของผู้โดยสารใน Regional นี้มากขึ้น และมีโอกาสเติบโตสูง เพราะมีการเดินทางจากนักท่องเที่ยวเข้าไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน และไทย-กลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นภาพการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง หรือ เข้ามารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในไทยมากขึ้น รวมทั้งต่อเครื่องไปประเทศแถบยุโรป โดย BA มีผู้โดยสารจากประเทศเพื่อนบ้านเติบโตกว่า 20% ในปี 59 ที่ผ่านมา ดังนั้น BA จะสร้างเครือข่ายให้เดินทางเข้าไทยได้สะดวก และหาพันธมิตรที่บินเส้นทางระยะไกลแทน ด้วยวิธีทำการบินร่วมกับพันธมิตร (Code Share)

สำหรับสัดส่วนผู้โยสารของบริษัทส่วนใหญ่มาจากยุโรปเป็นหลักราว 60% ซึ่งรวมตลาดในเอเชียเหนือ (ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง) ขณะที่ในประเทศมี 20% และจากประเทศเพื่อนบ้าน 20% ที่ผ่านมาได้เพิ่มจุดบินเชื่อมต่อในอาเซียนก่อน และบางเส้นทางบินตรงเข้าเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ เส้นทาง เชียงใหม่-ย่างกุ้ง , เขียงใหม่-มัณฑะเลย์ , กรุงเทพ-ดานัง , สมุย-เฉิงตู ทั้งนี้ BA มีสนามบินสมุย และเชียงใหม่เป็นฮับ

ขณะที่ตลาดอินเดีย มองเห็นศักยภาพนักท่องเที่ยวจากอินเดีย แต่มีข้อจำกัดด้านสิทธิการบิน โดยปัจจุบัน BA มีเส้นทางบินที่ เมืองมุมไบ และยังมีอีกหลายเมืองที่มีศักยภาพ ได้แก่ กัลกัตตา นิวเดลี เป็นต้น โดยมีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารจากอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ส่วนสายการบินพันธมิตรที่จะทำการบินร่วม (Code Share) คาดว่าปี 60 นี้จะมีเพิ่ม 2-3 สายการบิน จากปัจจุบันมี 21 สายการบิน ส่วนใหญ่เป็นสายการบินจากจีน และสายการบินทางยุโรปตะวันออก ซึ่งการเพิ่มสายการบินร่วม Code Share ช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัท โดยที่ผ่านมารายได้ผู้โดยสารจาก Code Share มีสัดส่วน 1 ใน 4 ของรายได้รวม นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทไม่ต้องลงทุนเพิ่มมาก และสามารถเน้นทำตลาดอาเซียและ Regional ได้มากขึ้น รวมทั้งยังทำให้ผู้โดยสารให้รับความสะดวกสบาย เป็นจุดที่สร้างความประทับใจให้กับคนใช้บริการ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า BA เล็งเห็นศักยภาพของ จ.นครราชสีมา ในการเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภาคเหนือ หรือภาคใต้ ช่วยการเดินทางได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอเช่าใช้พื้นที่และอาคารของกองทัพอากาศใน จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมือง ขณะที่สนามบินนครราชสีมาไกลจากตัวเมืองพอสมควร

"นครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่มีประชากรที่มีกำลังซื้อ ถ้าเดินทางต่อเครื่องไปต่างประเทศก็สะดวก ไม่จำเป็นต้องย้อนมาที่กรุงเทพ อย่างไรก็ดี เท่าที่ทราบกองทัพอากาศดูแลเรื่องความมั่นคงอยู่ จึงยังไม่ได้รับคำตอบ"นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ส่วนสนามบินอู่ตะเภา ทาง BA สนใจลงทุนในทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นงานบริหารลานจอด ครัวการบิน คลังสินค้าที่จะมีพื้นที่ฟรีโซน โดยมีบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนขยายโครงข่ายเส้นทางการบินพร้อมการสร้างที่บริษัทเป็นเจ้าของ ทั้ง 3 สนามบิน สมุย สุโขทัย และตราด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับสนามบินของบริษัทในการเป็นประตูเขื่อมต่อระหว่างโครงข่ายการบินของบริษัทเอง และกับโครงข่ายการบินพันธมิตร เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารในการเชื่อมต่อเส้นทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรของบริษัททั้งด้านสายการบิน และด้านสนามบิน ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัท

นายพฺฒิพงศ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะทยอยรับมอบเครื่องบิน 5 ลำ จากสิ้นปี 59 มี 34 ลำ เพิ่มเป็น 39 ลำในสิ้นปี 60 โดยเครื่องบินใหม่ ได้แก่ เครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 2 ลำ , เครื่องบินแอร์บัส A319 จำนวน 3 ลำ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านบาทจากงบลงทุนทั้งปี 60 ที่มีจำนวน 2.5 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ