(เพิ่มเติม) KKP ตั้งเป้าปี 60 สินเชื่อโต 5% จากปีก่อนติดลบ 0.8% คุม NPL ไม่เกิน 5.2% รักษา NIM 4.7-4.9%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 30, 2017 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประกอบไปด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) บล.ภัทร และ บลจ.ภัทร ในปี 60 คาดว่าจะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกราว 5% จากสิ้นปี 59 ที่มียอดรวมของสินเชื่อรายย่อยที่ 124,000 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปีก่อนที่สินเชื่อติดลบ 0.8%

ขณะที่ตั้งเป้าจะลดสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้เหลือต่ำกว่า 5.2% จากปี 59 อยู่ที่ระดับ 5.6% และ รักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไว้ในช่วง 4.7-4.9% จากปีก่อนอยู่ในระดับ 4.9%

ทั้งนี้ KKP มองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 60 นี้ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.2% คาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในครึ่งแรกของปี และหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้ นอกจากนี้ ยังประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ แรงงาน การลงทุน และผลิตภาพการผลิต

นายอภินันท์ เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปีนี้ของเติบโต 5%จากสิ้นปีก่อนที่สินเชื่อรวมของธนาคารติดลบ 0.8% โดยกลยุทธ์ของธนาคารจะเน้นการขยายงานทางด้านสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเอสเอ็มอีคูณสาม จะเป็นการขายผ่านช่องทาง ADC (Alternative Distribution Channel) ซึ่งเป็นสายงานด้านตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภท โดยธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อดังกล่าวรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปี 59 ปล่อยไปทั้งสิ้น 5 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารได้เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 600 คนในปีนี้ จากปีก่อนมีจำนวน 300 หรือเพิ่มจำนวนพนักงานอีกเท่าตัว

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตเล็กน้อย หรือทรงตัวจากปีก่อนที่ติดลบไป 2.7% ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดขายรถยนต์ยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปีก่อนยอดขายรถยนต์ติดลบ 4% โดยสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารในปัจจุบันเป็นสินเชื่อรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 48% รถยนต์มือสอง (Used Car) อยู่ที่ 52% จากเดิมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองประเภทมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% อีกทั้งแนวโน้มการขาดทุนรถยึดในปีนี้คาดว่าจะทยอยลดลง จากปีก่อนขาดทุนรถยึดไป 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาขายรถยนต์มือสองที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงจุดต่ำสุดไปแล้วจากการทยอยสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก

ด้านสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (Coporate) ในปีนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับช่องทางการระดมทุนของลูกค้า เพราะในที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่ใช้วิธีการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก และนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นมาชำระคืนหนี้ให้กับธนาคาร ทำให้ยอดสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่เติบโตมากนัก เพราะวงสินเชื่อที่ธนาคารให้กับลูกค้าไปไม่ได้มีการเบิกใช้ และมีปริมาณการชำระคืนหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ยังชะลอการลงทุนหลังภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

อีกทั้งในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีงานด้านวาณิชธนกิจที่ต่อเนื่องจากปีก่อนทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารเร่งให้มีการเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับธนาคาร ซึ่งจะมีลูกค้าผู้ประกอบการขนาดใหญ่วางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านวิธีการการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ที่เป็นลูกค้าของธนาคารราว 4-5 ดีล ซึ่งเป็นดีลที่ต่อเนื่องมาจากปี 59

"ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ในปีนี้เราก็พยายามรักษาให้อยู่ในช่วง 4.7-4.9% จากปีก่อนที่ 4.9% โดยเราจะเน้นการปล่อยสินเชื่อที่ให้ยีลด์ดี โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่เราเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทาง ADC ซึ่งปีที่ผ่านมาเราเริ่มการให้บริการช่องทาง ADC ไปเพียง 11 เดือนและก็มียอดปล่อยสินเชื่อได้มากถึง 5 พันล้านบาท ปีนี้เราเพิ่มพนักงานอีก 1 เท่า แล้วเราก็ตั้งเป้าปล่อยเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท"นานอภินันท์ กล่าว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะควบคุมให้ลดลงต่ำกว่า 5.2% จากปีก่อนที่อยู่ 5.6% โดยแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีคุณภาพหยนี้ที่ดีขึ้น ประกอบกับ ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพิจารณาให้สินเชื่อเป็นรายโครงการ แต่การลด NPL ของธนาคารยังไม่มีแผนที่จะตัดจำหน่ายหนี้ออกไป

และแนวโน้มการตั้งสำรองในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 59 ที่ตั้งไป 2.3 พันล้านบาท โดยส่วนอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (coverage ratio) ในปีนี้จะรักษาให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ 110% แม้ว่าจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่มี coverage ratio อยู่ที่ 140% ซึ่งธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มให้เท่ากับระบบอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ เพราะสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ