โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) หลังมองกำไรปีนี้ยังเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักได้อย่างต่อเนื่อง จากปีที่แล้ว ตามยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่คาดว่าจะยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลบวกจากกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นหลังภาระค่าใช้จ่ายโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นอกจากนี้ KTC ยังมีกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง และต้นทุนการกู้ยืมที่เชื่อว่าจะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income:NII) จะยังเติบโตได้ดี อีกทั้ง KTC ยังสามารถควบคุมคุณภาพลูกหนี้ได้ดี ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลง
ราคาหุ้น KTC พักเที่ยงอยู่ที่ 142.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท (+1.42%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ้มขึ้น 0.09%
เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 155 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 160 บัวหลวง ซื้อ 167 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 160 โนมูระ พัฒนะสิน ถือ 150
นักวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ KTC ในปีนี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจะมีกำไร 2.8 พันล้านบาท เติบโตราว 14% จากปีที่แล้ว ตามสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวราว 10% แม้จะชะลอตัวจากปีที่แล้วที่ขยายตัวในระดับ 13% แต่ก็เป็นการขยายตัวจากฐานที่สูงอยู่แล้ว โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และกำลังซื้อที่น่าจะเพิ่มขึ้น จากภาระของโครงการรถยนต์คันแรกที่หมดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจบัตรเครดิต
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะมีขึ้นอีกในปีนี้ ,มาตรการการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย น่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในปีนี้คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่น่าจะกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตไม่มากเพราะรายรับที่ได้มีมากกว่า ขณะที่ในด้าน NPL ที่ตลาดมีความกังวลนั้นจะเห็นได้ว่ายอด NPL รวมส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมาในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อคอร์ปอเรท แต่ในกลุ่มสินเชื่อคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นสินเชื่อหลักของ KTC ยังคงอยู่ในภาวะปกติ
"เราแนะนำเป็น Buy แม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นมาเยอะ แต่เรามองว่ากำไรยังโตต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาส 4/59 ตัว loan growth ก็ยังเติบโตได้ 10% สูงสุดรายไตรมาสในรอบ 5 ปี แม้เป็นช่วงการไว้ทุกข์แต่ก็ส่งผลกระทบจำกัดต่อ KTC และแนวโน้มยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนต่างดอกเบี้ยปีนี้อาจจะลดลงเล็กน้อย แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรที่ยังมีอยู่สูง ก็ยังทำให้กำไรเติบโตได้"นักวิเคราะห์ กล่าว
ขณะที่บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของ KTC ในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างกำไรได้ 2.49 พันล้านบาท เติบโต 20% จากปี 58 จากรายได้รวมที่เติบโต 16% และค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มต่ำกว่ารายได้ ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรแข็งแกร่งโดยเติบโตราว 13% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงประสิทธิผลของแคมเปญการตลาดที่หลากหลาย ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตดีต่อเนื่อง
ด้าน NPL ลดลง ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นอีก แสดงถึงการให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพลูกหนี้ ด้วยการแก้ไขปัญหาเชิงรุก โดยเฉพาะการตัดหนี้สูญ (Write-off) ทำให้ NPL ลดลงต่อ และคิดเป็น 1.66% ของสินเชื่อรวม อีกทั้งการตั้งสำรองที่เป็นไปอย่างระมัดระวังมาก ทำให้ Coverage ratio เพิ่มเป็น 473%
และคาดว่า KTC จะยังคงมีกำไรดีต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งยังประมาณการกำไรปี 60 ไว้ระดับเดิม เติบโต 17% จากปีที่แล้วเป็น 2.9 พันล้านบาท จากแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC จะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง นอกจากเป็นผลของกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่งแล้ว ยังคาดว่าจะได้รับผลบวกจากกำลังซื้อของลูกค้าในภาพรวมที่ดีขึ้นด้วย
ด้านต้นทุนการกู้ยืมของ KTC คาดว่าจะไม่เพิ่มรวดเร็ว ซึ่งทำให้ NII จะเติบโตได้ดี ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะเพิ่มด้วยอัตราต่ำกว่ารายได้ที่เติบโต โดยแนวโน้มการดำเนินงานของ KTC แข็งแรงมาก ทำให้การถือหุ้น KTC ยังน่าสนใจ
บทวิเคราะห์บล.บัวหลวง ระบุว่าแนวโน้มผลประกอบการของ KTC จะแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 60 จากสินเชื่อที่เติบโตดี และมีโอกาสดีกว่าคาดหากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และ NIM ที่ยังดี ประกอบกับการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ยังคงประมาณการกำไรปี 60 เติบโตราว 16% จากปีที่แล้ว
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่าภาพรวมของทั้งปี 60 ของ KTC จะมีกำไรสุทธิเติบโตได้ราว 14% มาที่ 2.85 พันล้านบาท โดยฝั่งรายได้จะเติบโตจากการเร่งขยายฐานลูกค้าจากปีก่อนหน้า และการรักษาระดับความหลากหลายของแคมเปญร่วมกับร้านค้า ซึ่งช่วยหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดสินเชื่อและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยฝั่งค่าใช้จ่ายคาดว่าต้นทุนเงินทุนจะลดลงได้เล็กน้อยจากการหมดอายุของหุ้นกู้ต้นทุนสูงในไตรมาส 4/60 และคาดว่า KTC มีแนวโน้มจะออกหุ้นกู้อายุสั้น มากขึ้นจากเดิม 3-10 ปี อาจลดลงเหลือ 3-7 ปี