BEAUTY ร่วง 4.50% โบรกฯปรับลดประมาณการกำไรปี 59-61 หลังคาด Q4/59 แนวโน้มกำไรอ่อนตัวกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 1, 2017 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น BEAUTY ราคาร่วงลง 4.50% มาอยู่ที่ 10.60 บาท ลดลง 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 711.89 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.03 น. โดยเปิดตลาดที่ 11.10 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 11.10 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 10.50 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดว่า บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) จะรายงานกำไรสุทธิ Q4/59 อ่อนตัวกว่าคาดการณ์เดิมของเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอตัวจากช่วงไว้อาลัย และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงในเดือนต.ค.-พ.ย.ซึ่งกระทบต่อยอดขายสาขาของบริษัทที่คาดว่าจะไม่เติบโตได้ดีอย่าง 9 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีส่วนช่วยจากการจำหน่ายสินค้าให้แก่พาร์ทเนอร์ในไต้หวันและฮ่องกงที่มียอดสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 โดยคาดยอดขายรวมอยู่ที่ 726 ล้านบาท ยังเพิ่มขึ้น +27% YoY แต่ค่อนข้างทรงตัว -1.2% QoQ ในขณะที่คาดจะเห็นอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยที่ 65.4% จากโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ดังนั้น คาดกำไรสุทธิสำหรับ Q4/59 อยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งยังคงเติบโต +53% YoY แต่ลดลง -5% QoQ

ด้วยแนวโน้มกำไรที่คาดใน Q4/59 จะออกมาต่ำกว่าประมาณการเดิมของเรา จึงปรับกำไรสุทธิในปี 59 ลง 9% มาอยู่ที่ 678 ล้านบาท และสำหรับปี 60-61 ลง 6% และ 3% มาอยู่ที่ 940 ล้านบาท และ 1,240 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากมองว่าระยะยาวบริษัทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตในระดับที่ดี

จากการปรับลดประมาณการผลประกอบการ ปรับราคาเป้าหมายของเรามาอยู่ที่ 13.60 บาท จาก 14.20 บาท (DCF) และด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาเนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อผลประกอบการที่น่าจะอ่อนตัวกว่าคาด แต่มองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนและยังคงแนะนำ"ซื้อ"เนื่องจากมองว่า BEAUTY ยังคงเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มที่ดีตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในไทย ซึ่งขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปีสูงกว่า GDP ของไทย และความแข็งแกร่งของบริษัทจากการมีช่องทางการเติบโตของบริษัทเองที่ครอบคลุมโดยรวม ทั้งในสาขาประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งโอกาสการเติบโตในต่างประเทศที่ยังสดใส จากการมีฐานลูกค้า Wholesaler ในมือมากกว่า 300 ราย ซึ่งบริษัทมีการทำ WCRM กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ทำให้มีการสั่งสินค้าซ้ำ

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มเติมไปยังประเทศอื่นๆ นอกจาก CLMV, ฮ่องกง, ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ปัจจัยเสี่ยงมาจากการขยายสาขาที่ไม่เป็นไปตามคาด การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจเครื่องสำอาง และการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ลดลงหากเศรษฐกิจชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ