IRPC คาด EBITDA ปีนี้ 1.8 หมื่นลบ.-GIM ใกล้เคียงปีก่อน รับผลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 30 วัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 2, 2017 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 60 จะทำได้ 18,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่ในรอบ 5 ปี ตามแผน (Major Turnaround) ประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.-2 มี.ค. 60 เพื่อทำการตรวจสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ หลังจากได้ดำเนินการผลิตมาได้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในอนาคต โดยจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็ม 100% ในต้นเดือนเม.ย.60

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงจะได้รับแรงหนุนจากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่น ซึ่งจะรับรู้ผลประโยชน์ได้เต็มปีในปีนี้ หลังจากเปิดดำเนินการเมื่อเดือนก.ค.59 ซึ่งจะทำให้โรงกลั่นสามารถรักษาระดับการกลั่นน้ำมันได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 1.8 แสนบาร์เรล/วัน แม้ว่าจะมีการหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ก็ตาม อีกทั้งการดำเนินโครงการ EVEREST จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีส่วนสร้าง EBITDA ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่คาดกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ปี 60 จะเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกของปี 59 อยู่ในระดับ 13 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากโครงการ UHV สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต อาจจะส่งผลให้ GIM ปีนี้จะเพิ่มอีกประมาณ 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ภายใต้สมมติฐานส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์โพลิโพรพิลีน (PP) จะอยู่ที่ระดับ 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 400-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ขณะเดียวกันคาดราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ลดกำลังการผลิต แต่อย่างไรก็ตามมองว่าหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตน้ำมันจากผลิต shale gas และ shale oil เข้าสู่ระบบ จึงเป็นส่วนทำให้กดดันราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

นางรัชดาภรณ์ กล่าวว่า ในปี 60 บริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในโครงการเพิ่มกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีนให้เป็น 7.75 แสนตัน/ปี รวมถึงใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของโรงกลั่น อีกทั้งบริษัทได้ขออนุมัติวงเงินกู้ร่วมจากสถาบันการเงินจำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระและไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท สามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ภายในปีนี้จำนวน 300-400 ล้านบาท หรือมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลงราว 1% เป็น 3% จากเดิมราว 4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ