โบรกฯมองตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจแม้ ศก.โลกรับความเสี่ยงนโยบาย"ทรัมป์"-การเลือกตั้งยุโรป

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 3, 2017 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวในงานเสวนา Hot Issue "Global & Thai Economic Outlook 2017 จับสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ย FED และผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยหลังการประชุม FOMC ครั้งแรกของปี"ว่า ภาพการลงทุนของโลกในปีนี้ ยังเชื่อว่าเป็นช่วงของการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นที่จะมีสภาพคล่องเข้ามาช่วยผลักดันราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้ และยังเชื่อว่าน่าจะมีเม็ดเงินไหลออกจาตราตราสารหนี้เข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่ง จากการคาดการณ์ของสหรัฐฯว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 3% ได้ ทำให้นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดอกเบี้ยที่สูงกว่า

ทั้งนี้ มองการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดนักลงทุนยังรอดูความชัดเจนด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ,การปฎิรูปภาษี และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งหากเห็นความชัดเจนดังกล่าวก็น่าจะส่งผลให้นักลงทุนมีความกล้าที่จะเข้าซื้อหุ้นเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นช่วงนี้จนถึง ทรัมป์ เริ่มออกมาพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ มองว่าตลาดหุ้นน่าจะแกว่งไซต์เวย์ ขณะที่มองธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 2-3 ครั้ง จากเงินเฟ้อที่ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นสูงมาก หรือไม่น่าจะอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางวิตกกังวลมาก เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตอยู่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น่าจะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อมาก ซึ่งยังสบายใจได้ในแง่ของการลงทุน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ยังเป็นกังวล คือ ยุโรป ที่จะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศ และกรีซ ที่อาจจะกลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ มองว่าเศรษฐกิจในยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน น่าจะไม่เติบโตมากนัก ทำให้อาจมีเม็ดเงินไหลออกไปยังตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น ละตินอเมริกา เพราะได้ประโยชน์จากสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และรัชเซีย ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของ"ทรัมป์"

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะมี upside ไม่มากแล้ว จากที่ตลาดฯมีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมาราว 20% เป็นอันดับ TOP 5 ของโลก เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับ 4% และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเอกชนได้จริง

"มองตลาดหุ้นไทยยังดีอยู่ ยังมีเงินไหลเข้ามา และตลาดเกิดใหม่ก็มีความน่าสนใจ ขณะที่จีนที่เป็นตลาดใหญ่สุดปีนี้ไม่ค่อยน่าสนใจ ทำให้เงินจะต้องมีการหาที่ไป ไทยเราก็เป็นหนึ่งในตลาด Emerging Market ที่เขาน่าจะดู ๆ อยู่ ซึ่งในมุมมองของต่างชาติที่จะลงทุน อันดับแรกคือ มองเรื่องค่าเงินก่อน ถ้าอ่อนมาก ๆ ก็ไม่กล้าเข้า แต่ไทยเรามีพื้นฐานที่ดีในการสะท้อนค่าเงินอยู่ แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า แต่จะไม่อ่อนเกินไป เมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยเชื่อว่ายังมีโอกาสที่ต่างชาติจะเข้ามาได้อีก จากระดับการถือครองของต่างชาติที่ยังมีไม่มาก"

พร้อมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 60 น่าจะอยู่ที่ 1,650 จุด แนะนักลงทุนลงทุนหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคจะได้ประโยชน์มากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากตลาดฟื้นจากการชะลอตัวในช่วงเหตุการณ์ปลายปี 59 ประกอบกับ กลุ่มวัสดุก่อสร้างที่จะเติบโตในปีนี้ และได้รับอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญฯไปแล้ว ขณะที่กลุ่มสื่อสารน่าจะให้เงินปันผลสูง เนื่องจากไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในปีนี้

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะของการค่อย ๆ ฟื้นตัว ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะเติบโตราว 3.4% จากปีที่ผ่านมาโต 3.1% ขณะที่ปี 61 น่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% โดยการปรับตัวดีขึ้นยังเป็นกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ละตินอเมริกา เป็นต้น ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่และยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในแง่นโยบายที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลัง ที่จะใช้จ่ายเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน, แผนลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯดีขึ้นในระยะสั้น รวมถึงการผ่อนคลายกฎหมาย (regulation) โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน และลดข้อจำกัดต่างๆของภาคการเงิน

ขณะเดียวกันนโยบายที่เป็นลบของนายทรัมป์ เช่น การกีดกันทางการค้า กีดกันผู้อพยพ และต่อต้านการค้าเสรี ซึ่งหากมีการดำเนินนโยบายจริงก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ ซื้อของแพงขึ้น การค้าโลกชะลอตัวลงจากเรื่องกำแพงภาษี และบริษัทสหรัฐฯเองก็อาจจะถูกกระทบจากภาษีที่สูงขึ้นจากการนำเข้า และอาจจะส่งส่งผลกระทบมายังประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังต้องพึ่งพาการค้าโลกอยู่พอสมควร อย่าง เม็กซิโก, จีน เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเป็นความเสี่ยงสำคัญอีกประการหนึ่งของการลงทุนและเศรษฐกิจ โดยประเด็นที่ต้องจับตาดู คือ หลังจากนายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลทั้งไทยและสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 2.5% จากที่เคยอยู่ในระดับ 1.8% ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรไทยปรับขึ้นไปด้วย ส่วนหนึ่งมาจากคนกังวลเรื่องของเงินฝืด, ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกดดันให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยด้วย

นายพิพัฒน์ มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 3 ครั้ง โดยเฟดยังรอดูตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อว่าเข้าสู่ภาวะปกติใกล้เคียงเป้าหมาย 2% แล้วหรือไม่ และตัวเลขการว่างงาน ซึ่งคาดว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เป็นอัตราที่เร่งเกินไป

อย่างไรก็ตาม หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยก็น่าจะส่งผลทำให้ดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย และน่าจะส่งผลต่อภาพของการลงทุนด้วยเช่นกัน แต่ไม่น่าจะเป็นกังวลมากเพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ดีขึ้น การลงทุนก็อาจจะปรับตัวได้ทัน อย่างไรก็ตามยังมีแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญ และมีทิศทางนโยบายการเงินที่ยังอยู่ในคนละทางกัน เช่น ญี่ปุ่น ยูโรป อังกฤษ ที่ยังคงทำ QE และเก็บอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งในเยอรมนี ฝรั่งเศล และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะมีประเทศอื่น ๆ จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) อีกหรือไม่ หลังจากอังกฤษได้ Brexit ออกไป รวมถึงประเด็นความขัดแย้งของสหรัฐฯกับเม็กซิโก และจีน ว่าจะเป็นสงครามการค้าในรูปแบบใด

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เนื่องจากประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ไว้เพียง 3.2% แต่ในระยะยาวหากสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องคาดว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้แนะนำนักลงทุนกระจายความเสี่ยงจากตลาดที่ผันผวน โดยให้จัดพอร์ตการลงทุนในหุ้น 50% และปรับลดตราสารหนี้เหลือระยะสั้น ประกอบกับถือสินค้าโภคภัณฑ์ และทองคำเพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เข้าถือกองอสังหาริมทรัพย์ และสำรองเงินสดส่วนหนึ่งเพื่อเข้าซื้อในช่วงตลาดอ่อนตัวจากความผันผวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ