โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มองว่าปี 60 สินเชื่อจะเติบโต 4-6% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีกที่โดดเด่นในปีนี้ หนุนการขยายตัวของสินเชื่อองค์กร ที่ BBL มีความแข็งแกร่งของสินเชื่อประเภทนี้อยู่แล้ว แม้ว่าปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอียังอ่อนแอ และอาจจะยังกดดันให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จาก 3.2% ในปีก่อน แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญในปีนี้อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงปีที่แล้ว
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของ BBL ในปี 60 จะเติบโต 7-16% จากปีก่อน และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 4% ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่แพง โดยเทรดที่ P/E ระดับ 10 เท่า ทำให้ยังน่าสนใจในการลงทุน
ราคาหุ้น BBL ช่วงบ่ายอยู่ที่ 180 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท (+0.84%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.46%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บ้วหลวง ซื้อ 213.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 210.00 ทิสโก้ ซื้อ 202.00 เอเซีย พลัส ซื้อ 197.50 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 190.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) outperform 189.00 ทรีนีตี้ ซื้อ 186.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ถือ 174.00 นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่าในปี 60 สินเชื่อของ BBL เติบโตดีขึ้น ประมาณ 4-6% ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะสินเชื่อองค์กร(corporate) ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งกลุ่มค้าปลีกก็เติบโตด้วย ดังนั้น คาดว่ากำไรสุทธิของ BBL ในปี 60 เติบโต 7-8% แม้ว่าในปีนี้คาดว่าจะมี NPL สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 3.2% จากโมเมมตัม NPL รายใหม่ที่มาจากเอสเอ็มอี ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ"ซื้อ" BBL เป้าหมายราคา 197.50 บาท ซึ่งมองว่าราคายังถูกในปัจจุบันที่มี P/E 10 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 4% บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ มองว่าผลประกอบการปี 60 ของ BBL จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้วทั้งด้านสินเชื่อ, การรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย , และการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่ระมัดระวัง โดยคาดว่าสินเชื่อของ BBL จะมีแรงหนุนจากงานโครงการภาครัฐฯ, การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น, และการลงทุนของภาคเอกชนที่มากกว่าปีก่อน โดยยังคงประมาณการสินเชื่อของ BBL เติบโต 4% ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อบริษัทเอกชน และเอสเอ็มอี ของ BBL สูงขึ้นในอัตรา 4% เท่ากัน ตามมาด้วยสินเชื่อรายย่อยที่เติบโต 5%, และสินเชื่อต่างประเทศที่เติบโต 3% จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เชื่อว่า BBL จะสามารถควบคุมอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 3.2% ในปีที่แล้ว และคาดว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ ของ BBL ในปี 60 จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับของปีที่แล้ว สำหรับการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ IFRS9 จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการตั้งสำรองหนี้สูญของ BBL ไม่มากนักเนื่องจาก BBL มีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสะสมต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างแข็งแกร่งที่ 174% ในปี 59 และมองว่ามี Upside หาก BBL สามารถลดค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯปี 60 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ประเมินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอย่างอนุรักษ์นิยมที่ 2.2% ลดลงจาก 2.3% ในปีก่อน ทำให้ภาพรวมยังคงประมาณการกำไรของ BBL ในปีนี้ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท สูงขึ้น 16% จากปีก่อน ด้านราคาหุ้น BBL ที่ยังไม่แพงหรือ อยู่ที่เพียง 0.8x เท่าของมูลค่าทางบัญชีปี 60 ทำให้ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ" ด้านบทวิเคราะห์บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า BBL มีจุดเด่นและน่าจะทำให้ยังคงเชื่อมั่นต่อคุณภาพสินเชื่อและความแข็งแกร่งด้านการกันสำรองฯและเงินกองทุนของ BBL ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีทำให้ BBL ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิปี 60 ของ BBL จะฟื้นตัวขึ้นในระดับที่น่าสนใจราว 8% จากปีก่อน เนื่องจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษเหมือนในปี 59 โดยฟินันเซียฯ ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิขึ้น 4% เป็น 3.44 หมื่นล้านบาท และปรับราคาเหมาะสมปี 60 ขึ้นเป็น 210 บาท จากเดิม 200 บาท และคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 3.9%