นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานบมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับกองทุนแมคคิวรี่ ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่จากประเทศออสเตรเลีย และกลุ่มเพลินจิต แคปปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการหนี้ เข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมพลิกฟื้นบริษัท แต่ทั้งสองกลุ่มขอดูความชัดเจนในการแก้ปัญหาบริษัทก่อนตัดสินใจ ขณะเดียวกันเตรียมแผนบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่ราว 6.5 พันล้านบาท ด้วยการขายหุ้นธุรกิจพลังงานลม 30% มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท และการขายโรงแรมดาราเทวี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5-5.0 พันล้านบาท
พร้อมทั้งเชื่อว่าการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 14 ก.พ.นี้ จะสามารถอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ เพื่อมาเดินหน้าแก้ปัญหาบริษัท
"ตอนนี้พันธมิตรของผมในนาม IFEC ถือว่าแข็งแกร่งมาก มีทั้งด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการหนี้ และด้านเทคโนโลยี ผมจึงมั่นใจที่จะเปิดแผน IFEC Smart Forward หมายถึงการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างสง่างาม"นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวว่า การหารือกับกองทุนแมคคิวรี่ ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนโดยเฉพาะนั้น ทางกองทุนได้ขอดูความชัดเจนในการแก้ปัญหาของบริษัทก่อนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นสนใจจะเข้ามาถือหุ้นใน IFEC ส่วนกลุ่มเพลินจิต แคปปิตอล นั้นได้ตกลงที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรเช่นกัน โดยจะส่งนายสายันห์ สุพร เข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งการเป็นพันธมิตรนี้จะเข้ามาสนับสนุนบริษัทในการทำดีลการควบรวมกิจการ และการบริหารจัดการด้านการเงิน แต่ทางกลุ่มเพลินจิต แคปปิตอล ก็ขอดูความชัดเจนในการแก้ปัญหาของบริษัทก่อนการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน
สำหรับแผนการบริหารจัดการหนี้ที่ขณะนี้มีอยู่ราว 6.5 พันล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากการขายหุ้นบริษัทลูกที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ล่าสุดบริษัท โกล์ดวิน เข้าซื้อหุ้น 30% ในบริษัทดังกล่าว มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท และการจะขายโรงแรมดาราเทวี ซึ่งขณะนี้มีผู้ตกลงซื้อแน่นอนแล้ว มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5-5.0 พันล้านบาท ซึ่งเท่ากับหนี้สินของบริษัทที่จะหมดลงไป
นอกจากนี้บริษัทยังมีแนวทางที่จะขายหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (IFEC-T) ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 100% ให้กับนักลงทุนที่สนใจในสัดส่วน 49-51% โดยได้มีการเจรจาตั้งแต่ช่วงปลายปี 59 เพื่อขายหุ้นให้กับผู้ประกอบการในประเทศ 1 ราย ที่พร้อมจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมศักยภาพในการทำโรงงานขยะด้วย
ทั้งนี้ หลังจากการแก้ปัญหาหนี้สินจบลงแล้ว บริษัทยังมีโครงการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตร เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศบังคลาเทศ และโครงการอื่น ๆ ในประเทศแถบอาเซียนที่จะตามมาอีก โดยเชื่อว่ารายได้รวมในปี 60 จะอยู่ที่ระดับ 500-600 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไปตามโครงการใหม่ที่เกิดขึ้น
สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัท แบ่งเป็น รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์ม 360 ล้านบาท/ปี รายได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 120 ล้านบาท/ปี และรายได้จากโครงการกำจัดขยะชุมชนก่อนเป็นโรงไฟฟ้าอยู่ที่ 24 ล้านบาท/ปี
ส่วนปัญหาหนี้ระยะสั้นนั้น บริษัทอาจคงผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) บางส่วนจากที่จะครบกำหนดอายุภายในเดือนก.พ.นี้ราว 1.8 พันล้านบาท จากจำนวนหนี้ตั๋ว B/E ทั้งหมดรวม 3.3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวได้หากมีความชัดเจนในการตั้งกรรมการชุดใหม่ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมนัดเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดอายุในปีนี้เข้ามาเจรจาหาแนวทางการแก้ปัญหาในวันที่ 22 ก.พ. 60 โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่เป็นหุ้นกู้มูลค่ารวม 3 พันล้านบาท
นพ.วิชัย กล่าวว่า สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 14 ก.พ.นี้ มีความมั่นใจเต็มร้อยว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะให้ความเห็นชอบกับรายชื่อกรรมการใหม่ที่ตนได้นำผู้มีประสบการณ์ และเป็นบุคคลที่มีความสามารถพร้อมนำพาบริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องแผนการแก้ปัญหาภายในของบริษัท การแก้ปัญหาหนี้ และการเพิ่มศักยภาพของบริษัทให้เติบโตได้ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตามหากผู้ถือหุ้นอนุมัติรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว บริษัทจะยังไม่ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปลดเครื่องหมาย SP สำหรับหุ้น IFEC เพราะยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อราคาหุ้นที่อาจจะลดลง แต่ยืนยันว่าการปลดเครื่องหมาย SP จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุกรอบระยะเวลาที่แน่ชัด เพราะบริษัทอยากให้ปัญหาทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปก่อน และเห็นภาพที่ชัดเจนว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบน้อยหากมีการปลดเครื่องหมาย SP
"ผมก็มั่นใจ 100% ว่าผู้ถือหุ้นจะอนุมัติกรรมการชุดใหม่ในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เพราะกรรมการใหม่ทุกคนที่ผมคัดสรรมาล้วนเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของบริษัท และนำพาบริษัทก้าวต่อไปได้ ส่วนการปลดเครื่องหมาย SP ก็ขอรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน...การตัดสินใจต่าง ๆ ในตอนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ได้ ซึ่งความชัดเจนจะเห็นภาพมากขึ้นหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้หากผู้ถือหุ้นอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่"นพ.วิชัย กล่าว
อนึ่ง การประชุมผู้ถือหุ้น IFEC ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อเลือกตั้งกรรมการใหม่จำนวน 7 คน แทนกรรมการที่ลาออกก่อนหน้านี้ หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาไม่สำเร็จ ขณะที่ล่าสุดกลุ่มนายแพทย์วิชัย และกลุ่มผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายคือ นายทวิช เตชะนาวากุล ต่างส่งรายชื่อกรรมการรวมจำนวน 14 คนเข้าสู่การพิจารณาของผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ด้วย