นายจรัมพร โชติกเสถึยร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) มั่นใจในปี 60 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 80% โดยในเดือนม.ค.-ก.พ.60 มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร เกิน 80% จากระดับเฉลี่ย 77% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากแผนปฏิรูปองค์กรที่มีระบบบริหารราคา (Fare Management System) และระบบการบริหารโครงข่ายเส้นทางบิน (Route Network Management System) เข้ามาช่วยการขายตั๋วโดยสาร และทำราคาแข่งขันได้ดี
รวมทั้งการเพิ่มพันธมิตรร่วมทำการบินช่วยให้การบินไทยมีเส้นทางบินเพิ่มเป็น 500 เส้นทาง จากที่มี 200 เส้นทางที่บริษัทเป็นผู้ทำการบินเอง และปีนี้จะรับมอบเครื่องบินใหม่ 7 ลำ คือเครื่องบินแอร์บัส A350-900 XWB จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ ทำให้การบินไทยมีจำนวนที่นั่ง (Capacity) มากขึ้น
จะเห็นได้จากปัจจุบัน การบินไทยมีสัดส่วนการขายตั๋วโดยสารผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 22% จากสิ้นปี 59 ที่มีสัดส่วน 20% ซึ่งค่อย ๆ ขยายตัวจากก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 13% ดังนั้น เชื่อว่าสิ้นปี 60 สัดส่วนจาการขายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตจะเพิ่มเป็น 30% ตามเป้า โดยได้รับอานิสงส์จากระบบบริหารราคา ทำให้ราคาตั๋วของการบินไทยเป็นที่น่าสนใจ
"ตอนนี้ Cabin Factor 80% สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 3% ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี มีระบบการบริหารราคา มีพันธมิตรมากขึ้น ผลเริ่มออกมา จากที่ปรับ Network แต่ก็ต้องมาดูเรื่อง yield (กำไรต่อหน่วย) เพราะมีคู่แข่งมาก โดยเฉพาะสายการบินจากประเทศตะวันออกกลาง ที่มองว่ามีเครื่องบินมากเกินไปก็มีโอกาสตัดราคา"นายจรัมพร กล่าว
นายจรัมพร กล่าวว่า อย่างไรก็ดีการบินไทยควรจะคงระดับ yield ไว้ให้ได้ และเมื่อมีระบบบริหารราคาควรจะมี yield ได้ดีกว่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับคู่แข่ง และความชำนาญของเจ้าหน้าที่ในการใช้ระบบบริหารราคา
ทั้งนี้ จากที่นำระบบบริหารราคาและระบบการบริหารโครงข่ายเส้นทางบินมาใช้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีที่แล้ว ได้ปรับเส้นทางยุโรปกับออสเตรเลียให้สามารถเชื่อมการบินได้ไม่ได้ต้องรอนาน จาก 5 เมืองในออสเตรเลียบินไป 11 เมืองในยุโรป ทำให้บริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไร 1,500 ล้านบาท จากเดิมขาดทุน 1,500 ล้านบาท เพราะการวางแผนเรื่องราคา และโครงข่ายเส้นทางการบิน
นอกจากนี้ยอดจองตั๋วล่วงหน้าของยุโรปและออสเตรเลียในช่วง 2 เดือนข้างหน้ามียอดจองเกิน 80% แล้ว ทั้งนี้จะนำไปใช้ในเส้นทางที่มีผู้โดยสารน้อย อาทิ อินเดีย อินโดจีน เป็นต้น ส่วนเส้นทางญี่ปุ่นได้นำระบบบริหารราคา เข้ามาทำให้นำเสนอราคาแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ดี ขณะเดียวกัน การบินไทยก็ได้เพิ่มพันธมิตร ทำให้มีเส้นทางที่พันธมิตรช่วยบิน 300 เส้นทาง เช่น สหรัฐ สามารถบินไปได้ 13 เมือง
ส่วนการขายเครื่องบินเก่าออกไปจำนวน 22 ลำ อยู่ในกระบวนการขายอยู่ โดยปีนี้จะมีการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์เครื่องบินลดลง เพราะจะบันทึกเป็นราคาตลาด ขณะที่ช่วง 2 ปีก่อนบันทึกไว้เป็นจำนวนมากแล้ว หลังจากที่เพิ่งหยุดบิน ซึ่งทั้งหมดได้หยุดบินหมดแล้ว และปีที่แล้วที่ปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุ 22 ปีถือว่าอายุมากแล้วก็มีมูลค่าไม่มากนัก
สำหรับการจัดเก็บค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน สำหรับเส้นทางในประเทศ ขณะนี้การบินไทยกำลังพิจารณาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตามต้นทุนระยะทางอยู่
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ THAI กล่าวว่า ในปีนี้การบินไทยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการบริการซ่อมเครื่องบิน ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจเพื่อให้มีรายได้ทางอื่น ที่จะไม่ต้องอยู่กับความเสี่ยงสถานการณ์ ถ้าได้รายได้จากส่วนนี้เต็มที่ การบินไทยจะเติบโตดีขึ้นมีความมั่นคงของผลประกอบการ โดยรัฐบาลต้องการทำที่สนามบินอู่ตะเภา อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกินเดือน ก.พ.นี้จะทราบรายละเอียดโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย
"การบินไทยต้องดำเนินธุรกิจรายได้จากการตั๋วผู้โดยสารซึ่งเป็นธุรกิจมีความผันแปรสูงกับสถานกาณ์ต่างๆของโลก เพราะฉะนั้นพอมีสถานการณ์ของโลกก็จะถูกกระทบ จุดนี้ในแง่ยุทธศาสตร์การบินไทยจึงต้องหารายได้อื่นเข้ามา ปีนี้ก็จะดูเรื่องการบริการ ที่จะมาจากรายได้จากการซ่อมเครื่องบิน"
เมื่อต.ค. 59 ได้เริ่มมีระบบการบริหารราคา ทำให้ขายตั๋วได้ดีมากขึ้น คาดว่าจะเห็นผลดีขึ้นใน 2-3 เดือนข้างหน้า และเชื่อว่าราคาในเว็บไซด์ ของการบินไทยก็น่าสนใจมากกว่าคู่แข่ง ส่วนเรื่องการบริการ ผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ก็ยังชมการบริการบนเครื่องบินของการบินไทย โดยเห็นได้จากการที่สายการบินไทยที่ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 6 จากเดิมอยู่อันดับ 10 กว่า