PTT เผยกลุ่มธุรกิจก๊าซฯจัดงบ 2 แสนลบ.ลงทุนใน 5 ปี เน้นสร้างคลัง LNG-ท่อก๊าซฯ,เล็งสร้างห่วงโซ่ LNG

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 9, 2017 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ตั้งงบลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) โดยจะเป็นเงินลงทุนในปีนี้ราว 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวจะเน้นการสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 และการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯหลักเส้นที่ 5 โดยการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯจะมีขึ้นในเดือนก.พ. เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ในราวไตรมาส 2/60 ส่วนท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติราชบุรี-วังน้อยที่ 6 (RA#6) คาดว่าจะเปิดประมูลช่วงกลางปีนี้

ขณะเดียวกันปตท.ยังมองการลงทุนเพื่อรองรับการจัดหาก๊าซฯป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี หลังแนวโน้มปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยทยอยลดลง โดยเบื้องต้นศึกษาโครงการแยกก๊าซอีเทนจาก LNG ( Ethane Extraction) ขนาด 5 แสนตัน/ปี มูลค่าราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ในปี 61 และก่อสร้างแล้วเสร็จ 4-5 ปีหลังจากนั้น รวมถึงมีแผนจะสร้างห่วงโซ่ธุรกิจ LNG ให้ครบวงจรด้วยเพื่อลดความเสี่ยงการดำเนินงานและจะสามารถสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอในอนาคตด้วย

"เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท เรายังไม่มี new funding need ยกเว้นว่าจะมีการลงทุนมากกว่าแผนการที่เราวางไว้ เข้าใจว่าตอนนี้ปตท.มีแสนกว่าล้านบาทที่เป็น cash หรือ near cash ...priority ของเราชัดเจนคือลงทุน จ่าย dividend จ่ายคืนเงินกู้ ถ้าจำเป็นก็จะพิจารณาจ่ายคืนเงินกู้ก่อน เราไม่อยากจะ hold cash ไว้มากเกินไป ปีที่แล้วผลการดำเนินงานดีกว่าที่คาด ฉะนั้น cash flow generate ค่อนข้างจะเยอะพอสมควร ก็จะพยายามเอาไปลงทุน ส่วนที่ดูคือ upstream ก็จะพยายามใช้จังหวะนี้ในการลงทุน ปตท.สผ.ก็มีโปรเจคต่าง ๆ ที่เดินอยู่ ธุรกิจก๊าซฯก็จะเดินตามแผนใหญ่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปตท.ได้เตรียมแผนรองรับการจัดหาก๊าซฯ ซึ่งเป็นพลังงานหลักของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ หลังล่าสุดความต้องการใช้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดลง และล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนกรณีการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งก๊าซฯบงกช และเอราวัณ ซึ่งมีการผลิตราว 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือราว 40% ของความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ โดยแหล่งก๊าซฯทั้ง 2 แหล่งใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่ปริมาณก๊าซฯจะหายไปจากระบบ

โดยประเมินว่าหากไม่มีการดำเนินการใดเลย จะเริ่มเห็นปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 62 และลดลงต่ำสุดในช่วงปี 66-67 ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซฯหายไปราว 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนต่อการเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯทั้งสองแหล่งภายในปีนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซฯ

สำหรับแผนการรองรับจัดหาก๊าซฯเพิ่มเติม ได้แก่ การสร้างคลัง LNG ที่ปัจจุบันคลัง LNG แห่งที่ 1 ระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้รวม 10 ล้านตัน/ปี และสร้างส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 62 ขณะเดียวกันปตท.จะสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 ทำให้มีความสามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้รวม 19 ล้านตัน/ปี โดย LNG ดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้ก๊าซฯมากที่สุดราว 60%

ขณะที่การจัดหาก๊าซฯราว 20% ให้กับโรงแยกก๊าซฯ เพื่อแยกผลิตภัณฑ์ก๊าซฯป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี และจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้กับประเทศนั้น ปตท.ได้ก็เตรียมการรับมือกับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่ลดลงด้วยการศึกษาโครงการ Ethane Extraction เพื่อแยกก๊าซอีเทน จาก LNG ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะผลิตก๊าซอีเทนได้ราว 5 แสนตัน/ปี เพื่อป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี ซึ่งช่วยชดเชยได้ส่วนหนึ่งจากปัจจุบันที่ส่งก๊าซอีเทนให้ราว 2 ล้านตัน/ปี โดยคาดว่าจะตัดสินลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 61 ขณะเดียวกันโรงงานปิโตรเคมีของกลุ่มก็ได้วางแผนบริหารจัดการโรงงานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลงด้วย

ส่วนการจัดหา LPG เพื่อภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ก็อาจจะมีการนำเข้า LPG ได้โดยตรง จากปัจจุบันที่ปตท.มีคลังนำเข้า LPG ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี รวม 2.5 แสนตัน/เดือนซึ่งพร้อมรองรับการจัดหาดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันการนำเข้า LPG ส่วนหนึ่งอาจจะใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมีได้ด้วยเช่นกัน

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปตท.มีนโยบายการลงทุนที่จะเน้นการสร้างมูลค่าในห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอของธุรกิจ โดยในส่วนของ LNG ซึ่งปัจจุบันมีบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลงทุน LNG ในแหล่งโมซัมบิก ซึ่งเป็นขั้นต้น ขณะที่ปตท.มีการนำเข้า LNG และแปลงสภาพ LNG เป็นก๊าซฯก่อนนำไปใช้ ซึ่งเป็นขั้นปลาย แต่ขาดการดำเนินการในส่วนกลางที่เป็นการนำก๊าซฯขึ้นมาแปลงสภาพเป็น LNG ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) ก่อนนำออกจำหน่าย และในอนาคตจะนำไปสู่การทำ LNG Trading

"อย่างที่โมซัมบิก มีแหล่งก๊าซฯ จะเอาก๊าซฯมาขายต้องลงทุนทำ Liquefaction อาจจะเป็น ปตท.สผ. และปตท.ร่วมกันไปลงทุนส่วนนี้ อีกหน่อยก็จะพิจารณาเรื่องการทำเทรดดิ้งเหมือนน้ำมัน เป็น trade out-out เราพยายามทำให้เชื่อมต่อเป็นห่วงโซ่ LNG"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.สผ.และปตท.ได้หารือกันเพื่อที่จะจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน (JV) ที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อลงทุนทำ Liquefaction ซึ่งหากปตท.ไปเจรจาเพื่อทำสัญญาระยะยาวนำเข้า LNG จากผู้ผลิต ก็อาจจะหารือเพื่อขอเข้าลงทุนใน Liquefaction ด้วย สำหรับประเทศที่มีการผลิต LNG ใหญ่สุด ได้แก่ การ์ต้า,ออสเตรเลีย,มาเลเซีย,อินโดนีเซีย ขณะที่ผู้บริโภครายใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ ,จีน และอินเดีย

นอกจากนี้ปตท.ยังได้ศึกษา Value Chain สำหรับธุรกิจไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ปตท.มีการลงทุนในแหล่งเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าแล้วทั้งก๊าซฯ และถ่านหิน แต่ไม่ได้เชื่อมต่อในพื้นที่เดียวกัน อย่างแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน ก็อาจจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกันด้วย หรือในกรณีของการศึกษาสร้างคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในเมียนมานั้น ก็อาจจะเสนอให้มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกันเพิ่มเติมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ