บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เซ็นสัญญากู้เงินวงเงิน 3,113.75 ล้านบาท กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อลงทุนโครงการมิตรภาพวินด์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 50 เมกะวัตต์ พร้อมมองโอกาสหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะมี PPA จากต่างประเทศเพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์ (MW) ในปีนี้ และคาดหวังจะได้งานราว 10-15% ของการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศด้วย
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า การลงนามในสัญญาครั้งนี้ เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการเติบโตต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ด้านนายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการ ของ GUNKUL กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการมิตรภาพวินด์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ 1) สัญญาให้การสนับสนุนทางการเงินในวงเงินสินเชื่อรวม 3,113.75 ล้านบาท ระหว่าง บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด (KWE) ,GUNKUL และ SCB
2) สัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม (EPC Contract) ระหว่าง บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด กับ Zhongnan Engineering Corporation Limited (Zhongnan Engineering) และ Sinohydro (Thailand) Company Limited และ 3) สัญญาบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานลม (SAA Contract) ระหว่าง บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด และ Sinohydro (Thailand) Company Limited และ Gamesa (Thailand) Company Limited (Gamesa) "โครงการนี้เป็นโครงการพลังงานลมแห่งที่ 3 ที่ทางธนาคารให้การสนับสนุนสินเชื่อโครงการ ซึ่งการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจพลังงานทดแทนของ GUNKUL ดำเนินการได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการด้านการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น โดยมี Zhongnan Engineering และ Gamesa ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานลมในโครงการนี้ด้วย"นายกัลกุล กล่าว
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ GUNKUL กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในมือที่อยู่ระหว่างพัฒนานั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเช่าพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เนื่องจากบริษัทใช้ที่ดินที่มีโฉนดและพื้นที่เช่าชนิด น.ส.3 ก เป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนโครงโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนนั้น คงต้องชะลอออกไปเนื่องจากที่ตั้งของโครงการใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ของส.ป.ก. เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีแผนที่จะเพิ่ม PPA ในมือปีนี้ โดยคาดหวังที่จะได้รับ PPA จากโครงการพลังงานทดแทนในประเทศที่ภาครัฐกำลังจะเปิดรับซื้อ ทั้งโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 และโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับ PPA ราว 10-15% ของกำลังการผลิตรวมที่ภาครัฐเปิดให้ยื่นคำขอ ขณะเดียวกันยังมองหา PPA จากต่างประเทศเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วราว 200 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น โดยมองหาโอกาสทั้งในเวียดนาม และมาเลเซีย เพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาอยู่ราว 30 เมกะวัตต์
สำหรับภาพรวมปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตได้ 20-30% หรือไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท จากปี 59 คาดมีรายได้ 3,000 ล้านบาท โดยรายได้มาจากโรงไฟฟ้า 1,700-1,800 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวมแล้วประมาณ 171 เมกะวัตต์ (MW) และในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 230 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีโครงการพลังงานลม กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ ที่เตรียม COD ในเดือนต.ค. ส่วนรายได้ที่เหลือจะมาจากงานก่อสร้างและจำหน่ายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า
สำหรับโครงการพลังงานลม "มิตรภาพวินด์ฟาร์ม" ขนาด 50 เมกะวัตต์ นั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ทันที โดยคาดว่าจะ COD ได้ในเดือน มี.ค.61 จะส่งผลให้ในปี 62 บริษัทสามารถรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานลมได้เต็มปี หรือที่ราว 2,700-3,000 ล้านบาท