นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์ โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) กล่าวว่า บริษัทมีแผนนำบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในช่วง 3 ปี (ปี 60-62) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย
ปัจจุบัน SAFE เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทย่อยของ ECF และ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% และล่าสุด SAFE จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (PWGE) ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ (MW) ในจ.นราธิวาส โดยเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของ PWGE จำนวน 99.99% คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งโครงการไม่เกิน 425 ล้านบาท ซึ่งจะชำระเงินค่าหุ้นเป็นเงินสด และการแลกหุ้น (Share Swap)
หลังการดำเนินการดังกล่าวแล้วกลุ่ม ECF ,FPI จะถือหุ้นใน SAFE ในสัดส่วนเท่ากันที่ฝ่ายละ 33.37% ขณะที่ผู้ถือหุ้นของ PWGE จะถือหุ้นใน SAFE ในสัดส่วน 33.26% โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาส 2/60
นายอารักษ์ กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้จะสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มบริษัท จากการรับรู้ผลกำไรจากการลงทุนในโครงการ ตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นใน SAFE สัดส่วน 33.37% ซึ่งโครงการที่ SAFE จะเข้าลงทุนในครั้งนี้ คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ประมาณ 13.6% และน่าจะคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปีจากนี้
สำหรับแผนงานในอนาคตของ SAFE ด้วยความร่วมมือของพันธมิตรทั้ง 3 ฝ่าย คือ ECF, FPI, และ PWGE จะยังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งหากมีโครงการที่น่าสนใจก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน โดยปัจจุบันก็อยู่ระหว่างเจรจาเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 แห่ง ในจ.บุรีรัมย์ ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์/แห่ง และมีสัญญาซื้อขายไฟ 8 เมกะวัตต์/แห่ง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 2/60 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ ในการยื่นขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเฟส 2 ที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อ 480 เมกะวัตต์ในอนาคตด้วย
พร้อมกันนี้ตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิต 50-60 เมกะวัตต์ภายในปีนี้จากการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตแล้ว 7.5 เมกะวัตต์จากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าของ PWGE
ด้านนายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ของ FPI กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าของ PWGE คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 2/60 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะเวลา 20 ปี อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ที่ 5.04 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาที่ได้ส่วนเพิ่ม FiT Premium จากโครงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดอายุโครงการอีก 0.50 บาท/หน่วย จากอัตราค่าไฟฟ้าปกติ อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับกฟภ.ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท/ปี