(เพิ่มเติม) SGF ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อปีนี้เป็น 2 พันลบ.จาก 800 ลบ.รุกขยายรายย่อย-สรุป M&A 3-4 ดีลปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2017 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิวัฒน์ วิฑูรย์เธียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง (SGF) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อคงค้างปลายปีนี้ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงการแปลงเงินสดเป็นสินเชื่ออย่างเต็มที่บวกกับกู้อีกเพียงเล็กน้อย โดยปัจจุบัน ยอดปล่อยสินเชื่อของ SGF มีอยู่ราว 800 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง และเอ็นพีแอลต่ำตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา

แผนการดำเนินธุรกิจของ SGF จากนี้จะมีการขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ส่วนคือ การเพิ่มโปรดักส์เกี่ยวกับการให้สินเชื่อจากเดิมที่มีอยู่ 4 ประเภทคือ สินเชื่อเงินให้กู้ยืม, สินเชื่อแฟคตอริ่ง, สินเชื่อบุคคล และการบริหารหนี้ จากนี้จะเพิ่มโปรดักส์ใหม่คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ , สินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อจำนองบ้านและที่ดินรายย่อย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพราะความต้องการยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่สำหรับ SGF จะเข้าร่วมแชร์ตลาดในส่วนนี้ได้ไม่ยาก

กลยุทธ์ที่ 2 คือ การขยายสาขา ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะเปิดสาขาให้ได้ประมาณ 60 สาขา มูลค่าการลงทุนราว 2-3 แสนบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 2 สาขา ควบคู่ไปกับขณะเดียวกันระบบเอเย่นต์ส่งงาน ส่งลูกค้าให้สาขาเป็นแขนขาในการต่อยอดในการขยายธุรกิจให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและเป็นวิธีการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้ SGF บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

และกลยุทธ์ที่ 3 การใช้กลยุทธ์ซื้อและควบรวมไฟแนนซ์ท้องถิ่นคุณภาพสูงทั้งในธุรกิจสินเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียน ในมูลค่าที่เหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้รู้จักและเข้าถึงลูกหนี้เป็นอย่างดี แต่ยังขาดในเรื่องของระบบจัดการด้วยระบบไอที และทุนในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บุกไปเจาะตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่แข็งแกรงมาช่วยสนับสนุน

ขณะนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยบริษัทฯคาดว่าปีนี้ (2560) จะสามารถสรุปดีลได้ราว 3-4 ราย แต่อย่างไรก็ดีบริษัทฯยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดและขนาดของกิจการที่จะเข้าไปซื้อได้ แต่ทั้งนี้บริษัทฯจะเลือกซื้อกิจการที่มีศักยภาพและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทฯ

"หลังจากนี้เราจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยมากขึ้น โดยเราจะมี M&A ในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง และจะใช้ระบบตัวแทนในการขยายพอร์ตสินเชื่อ เพื่อที่จะมีต้นทุนคงที่น้อยที่สุด และลดความเสี่ยงจากการลงทุนในจำนวนมากๆ และเราเชื่อว่าหากเราสามารถปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อให้มาเป็นรายใหญ่ 25% และรายย่อย 75% จากปัจจุบันเป็นรายใหญ่ 80% และรายย่อย 20% ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่ทำให้บริษัทฯมีความเข้มแข็งในภาวะเศรษฐกิที่ไม่ดีได้"นายวิวัฒน์ กล่าว

บริษัทฯตั้งเป้าภายใน 3 ปี พอร์ตสินเชื่อรายย่อยจะเพิ่มขึ้นเป็น 75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ทั้งนี้ หลังจากการขยายสินเชื่อที่เป็นรายย่อยมากขึ้นนั้น อาจจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯตั้งเป้าที่จะรักษาให้ NPL อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม หรือที่ไม่เกิน 2-3% จากปัจจุบันไม่มี NPL

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯยังมีแผนที่จะเข้าซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหาร โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯได้เข้าประมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาที่ไม่เหมาะสม หรือคุณภาพหนี้ที่ไม่เหมาะสมนั้นจึงยังไม่นำเข้ามา อย่างไรตามบริษัทฯก็จะยังเดินหน้าเพื่อร่วมประมูลอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นบริษัทฯมีกำลังซื้อหนี้เสียมูลค่าเป็นหลักพันล้านบาทได้

สำหรับเงินลงทุนที่จะมาใช้ในการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องต่อจากนี้คือ เงินสดที่มีอยู่ในมือราว 700 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.03 เท่า จึงยังสามารถกู้ยืมสถาบันทางการเงินได้เพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯตั้งเป้าที่จะรักษาระดับ D/E ไว้ที่ไม่เกิน 1 เท่า นอกจากนี้บริษัทฯอาจจะมีแนวทางในการออกหุ้นกู้ หรือการหาแหล่งทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม

นายวิวัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีบริษัทฯได้ซื้อหนี้การค้าสินเชื่อแฟคตอริ่งจากลูกค้ารายหนึ่ง ซึ่งมีการโอนสิทธิเรียกร้องลูกหนี้องค์กรหนึ่งที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานราชการ โดยต่อมาได้เป็นหนี้ค้างชำระเงินต้นจำนวน 135.32 ล้านบาท บริษัทฯจึงได้ดำเนินคดีกับลูกหนี้ดังกล่าวตั้งแต่ปี 47 และได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้รายนี้ไว้ทั้งจำนวนแล้วนั้น ในวันที่ 5 ต.ค. 59 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทฯชนะคดี และได้รับชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 11% ซึ่งจะเริ่มบันทึกเป็นรายได้และกำไรตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

"เงินลงทุนที่เรายังต้องใช้ขยายกิจการอีกมากนั้นคงจะมาจากเงินสดที่มีในมือ เงินกู้จากสถาบันการเงิน และอื่นๆตามความเหมาะสม ซึ่งเราจะมีอีกก้อนหนึ่งเข้ามาคือจากการชนะคดี ซึ่งจะได้รับเงินต้นคืนจำนวน 135.32 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 11%"นายวิวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง SGF ได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.60 เป็นวันแรกหลังพ้นเหตุถูกเพิกถอน

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การกลับมาดำเนินธุรกิจของ SGF ในตอนนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นบนฐานกำไรที่มีคุณภาพ และงบดุลที่คลีน ทีมบริหารหวังว่าจะต้องเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง และมีอีกส่วนที่สำคัญมากคือธุรกิจบริหารหนี้ ที่จะมีการรับรู้รายได้และกำไรมากเป็นพิเศษ เนื่องจากการบริหาร NPL ของบริษัทชนะคดีใหญ่คดีหนึ่งในชั้นศาลฎีกาซึ่งได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อปีที่แล้ว โดยคำนวนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ศาลให้แล้วมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เมื่อวิเคราะห์หลักประกันที่วางในชั้นศาลก็มีมูลค่าสูง ซึ่งจะผลักดันให้ SGF มีฐานรายได้ รวมทั้งมีเงินทุนเข้ามาเพิ่มเติม สำหรับขยายธุรกิจสินเชื่อให้รายย่อยในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ