(เพิ่มเติม) PTTGC ตั้งงบลงทุน 5 ปีที่ 1.5 แสนลบ.,คาด EBITDA เพิ่มขึ้นในปีนี้ รับรู้กำไรซื้อกิจการปิโตรฯปตท.-โครงการ MAX หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2017 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า โครงการลงทุนของบริษัทในปีนี้จะอยู่ภายใต้แผนลงทุนระยะเวลา 5 ปี ด้วยวงเงินลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ยังมีอยู่อย่างเพียงพอ

ขณะที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 5 ปี ได้แก่ โครงการ PO/Polyol ซึ่งเป็นการลงทุนโพลียูรีเทนครบวงจร ,โครงการ Maptaput Retrofit-Olefins Reconfiguration (MTPR) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นการใช้วัตถุดิบในการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจโอเลฟินส์ และโครงการ Asset Injection (โครงการรวมมิตร) ที่เข้าซื้อธุรกิจปิโตรเคมี สายโพรเพน และสายพลาสติกชีวภาพ จากกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) รวม 6 โครงการ และรายงานผลการศึกษาของโครงการ PMMA มีมูลค่ารวม 2.63 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวไม่นับรวมถึงโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ที่ได้ชะลอการสรุปแผนลงทุนไปเป็นครึ่งหลังปีนี้จากเดิมที่คาดในไตรมาส 1/60

สำหรับเงินลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเข้าซื้อธุรกิจปิโตรเคมี ของกลุ่มปตท. และการลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LLDPE เป็นต้น

ทั้งนี้ การเข้าซื้อธุรกิจปิโตรเคมี ของกลุ่มปตท.คาดว่าจะสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทได้ราวปีละ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มรับรู้กำไรได้หลังจากการโอนกิจการทั้ง 6 โครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.60 แต่หากโครงการใดยังไม่สามารถโอนได้ทันก็ยังมีช่วงระยะเวลาการทยอยโอนได้อีกจนถึงเดือนเม.ย.61 ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยหนุนให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีนี้ดีกว่าระดับ 4.8 หมื่นล้านบาทในปีก่อนด้วย

ขณะที่ PTTGC มีนโยบายด้านการดำเนินงานธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) เป็นบริษัทแกนนำของธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่ม PTTGC ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยมีกำหนดเข้าซื้อขายในเร็ว ๆ นี้

"ตอนนี้เรารับโอนธุรกิจมาจากกลุ่มปตท. ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ซึ่งจะสามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจไปสู่ Performance Chemical ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในอนาคตตามเป้าหมาย...ในส่วนโครงการที่โอนมามีโครงการพลาสติกชีวภาพรวมอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อ GGC พร้อม ก็อาจจะโอนธุรกิจที่เกี่ยวกับไบโอพลาสติกให้กับ GGC ต่อไป"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับทั้ง 6 โครงการที่จะรับโอนจากปตท. ได้แก่ 1. บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC) จำนวน 41.4% ซึ่งทำเม็ดพลาสติก โพลีโพรพิลีน (PP) 7.7 แสนตัน/ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทไม่มีการผลิตในสาย PP เลย 2. บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) จำนวน 50% ซึ่งผลิตอะคริโรไนไตรล์ 2 แสนตัน/ปี เมทิลเมตะคริเลต 3. บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTTMCC) จำนวน 50% ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพโพลีบิวทิลีน ซัคซิเนต (PBS) 2 หมื่นตัน/ปี 4. บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (PTTPM) จำนวน 50% 5. บริษัท พีทีที โพลิเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (PTTPL) จำนวน 50% และ 6. บริษัท พีทีที เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด (PTTME) จำนวน 40% โดย 3 บริษัทหลังเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านการตลาด การบริหารจัดการ และการวางแผน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 59 ที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ 2.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากปี 58 แม้ว่าภาพรวมมาร์จิ้นของธุรกิจจะอ่อนแอกว่า และมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมี แต่ด้วยการรักษาเสถียรภาพการผลิต การเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย รวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้มีกำไรจากสต็อกน้ำมัน ช่วยหนุนให้ภาพรวมของกำไรในปีที่ผ่านมาดีขึ้น

ด้านนางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี ของ PTTGC กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์รายได้ในปีนี้จะเติบโต 25% จากระดับ 3.46 แสนล้านบาท ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 25% มาที่ระดับ 52-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 41 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว

ขณะที่ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปีนี้มีทิศทางที่ดีขั้น โดยในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันปีนี้คาดว่าจะกลั่นเต็มที่ 100% จาก 83% ในปีที่แล้ว และค่าการกลั่น (GRM) น่าจะอยู่ที่ระดับ 5.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 5.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว และการใช้กำลังผลิตของอะโรเมติกส์จะอยู่ที่ 81% จาก 82% ในปีที่แล้ว หลังจะหยุดซ่อมบำรุงโรงงานอะโรเมติกส์ 2 ประมาณ 45 วัน ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. และคาดว่าส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์จะดีขึ้นเป็น 232 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 185 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว เนื่องจากสเปรดของผลิตภัณฑ์เบนซีนที่ดีขึ้นจากปริมาณการผลิตใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดได้เลื่อนออกไป ส่วนสเปรดผลิตภัณฑ์พาราไซลีนทรงตัว

ส่วนธุรกิจโอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าราคาเม็ดพลาสติกในปีนี้จะอยู่ในกรอบเดียวกับปี 59 ที่ประมาณ 1,153 เหรียญสหรัฐ/ตัน

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะรับรู้กำไรจากการดำเนินโครงการ MAX ซึ่งเป็นปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร ในช่วง 3 ปี (ปี 60-62) ปีละ 3 พันล้านบาท หลังจากที่เพิ่งได้รับรู้ผลกำไรจากโครงการดังกล่าวในไตรมาส 4/59 เป็นจำนวน 246 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยผลักดัน EBITDA ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น

นางสาวดวงกมล กล่าวอีกว่า ณ สิ้นปีที่แล้วบริษัทมีเงินสดราว 5 หมื่นล้านบาท และมี EBITDA เข้ามาราวปีละ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้มีเงินสดราว 1 แสนล้านบาท เมื่อหักเงินลงทุนในปีนี้ 5 หมื่นล้านบาท และวงเงินที่จะใช้คืนเงินกู้ในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นกู้ ก็จะทำให้มีเงินสดคงเหลือราว 4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักการจ่ายปันผลส่วนหนึ่ง ก็คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือ ณ สิ้นปี 60 ราว 2.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยังมองโอกาสการออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิมด้วย โดยอาจจะออกหุ้นกู้ราว 1-2 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งต้องรอจังหวะและโอกาสที่ชัดเจนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ