นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทจัดสรรงบลงทุนไว้ราว 1 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตของปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 7,500 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่า จากปัจจุบันที่ 6,442 เมกะวัตต์ (เฉพาะโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว) โดยขณะนี้บริษัทมีโครงการเป้าหมายที่อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายและที่มีศักยภาพการลงทุนประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่า และโครงการที่ลงทุนซึ่งกำลังพัฒนาและก่อสร้างอีก 538 เมกะวัตต์
"ในปีนี้ทิศทางการลงทุนจะกระจายไปในธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อเร่งการเติบโตและสร้างความมั่นคงของรายได้ ปัจจุบันบริษัทมีโครการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 6,442 เมกะวัตต์ หากรวมโครงการกำลังพัฒนาและก่อสร้างที่บริษัทลงทุนไปแล้วจะทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,980 เมกะวัตต์ เราจะต้องแสวงหาโครงการใหม่เพิ่มอีก 520 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการที่มีอยู่ในมือน่าจะเพียงพอสำหรับเป้าหมายหากดำเนินการได้สำเร็จ บริษัทเตรียมเงินทุนไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้ในโครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้าง ที่เหลือจะใช้สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้น เรามองว่าไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา มีศักยภาพและโอกาสการลงทุนที่ดีมาก"นายรัมย์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแผนการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มให้เป็นสัดส่วน 10% ของกำลังการผลิตเป้าหมายที่ 7,500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มอีก 92 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 658 เมกะวัตต์ โดยโครงการใหม่ที่บริษัทฯอยู่ระหว่างเข้าไปศึกษาทั้งใน สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา โดยมองว่าประเทศเหล่านี้มีศักยภาพและโอกาสการลงทุนอีกมาก ซึ่งในระยะยาวบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็น 20%
นายรัมย์ กล่าวว่า บริษัทมีทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ยังคงเน้น 2 ด้านหลัก คือ การลงทุนและความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ เพื่อที่จะให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง และรักษาอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ (Return on Asset) ให้อยู่ในระดับ 6%
สำหรับการบริหารสินทรัพย์ บริษัทฯจะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า ทั้งระดับความเชื่อถือได้ (Reliability) และความพร้อมจ่าย (Availablity) ของโรงไฟฟ้า เพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการทำรายได้ให้แก่บริษัทฯ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าราชบุรีไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่น (SPP)