GPSC คาดกำไร Q1/60 หดรับผลกระทบโรงไฟฟ้า IRPC-CP หยุดซ่อม,หวังรักษากำไรปีนี้เท่าปีก่อนหรือมากกว่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 16, 2017 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดว่ากำไรในไตรมาส 1/60 จะลดลงจากระดับ 870.52 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังได้รับผลกระทบมากจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) เฟส 1 ที่ถือหุ้นอยู่ 51% ทำให้ไม่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวที่กลุ่มโรงงานของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.-2 มี.ค.

ขณะที่ผลการดำเนินงานทั้งปี 60 นอกเหนือจากจะได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า IRPC-CP แล้ว ยังจะได้รับผลกระทบการที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะหมดลง 2 ใบ และปันผลจากการถือหุ้น 15% ในบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) ที่จะลดลง เนื่องจากรายได้ของโครงการจะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นช่วงท้ายสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคาดหวังที่รักษาระดับกำไรในปี 60 ให้อยู่ในระดับเท่ากับปีก่อนที่ 2.7 พันล้านบาทหรือมากกว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ซึ่งจะทำให้กำไรลดลงราว 200-300 ล้านบาทในปีนี้ก็ตาม

ขณะที่ปีนี้แม้จะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่แต่จะอยู่ในปริมาณที่ไม่มากนัก และจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า IRPC-CP ระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/60 ,โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในไตรมาส 3/60 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิชิโนเซกิ โซลาร์ พาวเวอร์ ในญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/60 ขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ที่เริ่มเดินเครื่องเมื่อปลายปีที่แล้วก็จะรับรู้รายได้เต็มที่ในปีนี้

"ปี 60 เราก็พยายามอย่าให้กำไรลด เพราะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ถอยไม่ได้ กำไร 2,700 ล้านบาท ต้องยืนให้ได้ หรือมากกว่า ระดับ 2,700 เป็น minimum นี่คือความตั้งใจ reliability ต้องดี ความเชื่อมั่น โรงไฟฟ้าของเราที่เดินแล้วต้องเดินตลอดเวลา"นายเติมชัย กล่าว

นายเติมชัย กล่าวว่า สำหรับแผนงานที่จะก้าวเข้าสู่ความสำเร็จที่คาดหวังจะมาจากการดำเนินงานตามหลักการบริหาร M Cube คือ Maximize Asset คือการทำให้มากที่สุดจากโครงการที่มีอยู่ รวมถึงจัดเวลาการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำให้เหมาะสมที่สุด รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ,Manage ซึ่งเป็นการจัดการโครงการที่มีอยู่ในมือให้เดินหน้าและจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย และ Move คือการขยายโครงการลงทุนด้วยการหากำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามบริษัทได้ขยับเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 2,800 เมกะวัตต์เป็นปี 65 จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ภายในปี 62 หลังธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศมีการแข่งขันสูง ขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายในประเทศยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามภายในปี 62 บริษัทจะใช้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้ว (COD) ทั้งหมด 1,900 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือและอยู่ระหว่างการพัฒนา จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ COD แล้วจำนวน 1,381 เมกะวัตต์

สำหรับเงินลงทุนที่จะใช้ในการขยายกำลังการผลิตให้ถึงระดับ 2,800 เมกะวัตต์นั้น จะใช้เงินลงทุนรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินระดมทุนขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และการออกหุ้นกู้ที่ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทอนุมัติวงเงินช่วง 5 ปี (ปี 60-64) ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขยายกำลังผลิตระยะแรกสำหรับโครงการที่มีอยู่ในมือเป็น 1,900 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 7 พันล้านบาท และระยะที่สองเป็นการขยายกำลังผลิตเป็น 2,800 เมกะวัตต์จะใช้เงินลงทุน 8 พันล้านบาท

นายเติมชัย กล่าวว่า การขยายกำลังผลิตนั้นบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนซึ่งจะเป็นการเติบโตตามกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ อย่างในลาวที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำค่อนข้างมาก ส่วนการลงทุนในเมียนมา ยังมีข้อจำกัดเรื่องสายส่งทำให้การขายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นเรื่องยาก ดังนั้น บริษัทจึงมองหารูปแบบการลงทุนใหม่ อาจเป็นการเข้าไปตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าต่างประเทศมีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทต้องปรับแผนโดยการร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ