นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ บริษัทจะเข้าหารือกับกรมธนารักษ์เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่ราชพัสดุในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้มีการตกลงเบื้องต้นใช้รูปแบบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) และหาข้อสรุปว่าจะใช้อัตราเท่าใด
ทั้งนี้ หากกรมธนารักษ์จัดเก็บอัตรา 5% เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอื่นที่ทำกำไรก็จะไม่เกิดผลกระทบกับผู้โดยสาร แต่หากจัดเก็บค่าตอบแทนอัตรา 6-7% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร ซึ่งการปรับขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้ ทอท.มีต้นทุนเพิ่ม 320 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะขออุทธรณ์กับคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กบร.)เพื่อขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) ที่ปัจจุบันจัดเก็บ PSC สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศที่ 700 บาท/เที่ยว และเส้นทางในประเทศจัดเก็บ 100 บาท/เที่ยว ซึ่งการปรับขึ้นค่า PSC สามารถทำได้ตามพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 ม.60/37 และ ม.60/40
ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจ่ายค่าตอบแทนให้กรมธนารักษ์ในอัตรา 5% โดยในงวดปี 59 ได้จ่ายไป 1.5 พันล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทอท.จ่ายค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1.2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากกรมธนารักษ์จะเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ราชพัสดุในรูปแบบผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะกระทบกับผู้โดยสารแน่นอน เพราะต้นทุนของ ทอท.จะขึ้นมาเป็น 5 พันล้านบาทต่อปี ทอท.ก็จำเป็นต้องขอปรับขึ้นค่า PSC และเก็บเพิ่มจากผู้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยที่ปรึกษาของกรมธนารักษ์เสนอให้จัดเก็บค่าตอบแทนรูปแบบ ROA ซึ่งได้เคยหยิบยกประเด็นนี้มาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ทอท.ก็เห็นว่า การใช้พื้นที่ราชพัสดุในสนามบินบางแห่งต้องปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่าเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือใช้เป็นแนวร่อนของเครื่องบินตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)กำหนดไว้
"ในระดับบน (อธิบดีกรมธนารักษ์ และ ประธาน ทอท.) ได้ให้หลักการว่าการจัดเก็บค่าตอบแทนต้องไม่ส่งผลกระทบกับผู้โดยสาร เราได้คุยกันนอกรอบกับรองอธิบดีกรมธนารักษ์แล้วว่าใช้วิธี Revenue Sharing ซึ่งจะนัดคุยกันในวันที่ 21 ก.พ. เพื่อหาข้อสรุปการจัดเก็บค่าตอบแทนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่าไร" นายนิตินัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ได้ปรับเปลี่ยนข้อตกลงในการจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้ จากเดิมที่เก็บ 2% สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาค ให้ปรับเป็นจัดเก็บ 5% สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีกำไร คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต และยังคงเก็บ 2% ในท่าอากาศยานภูมิภาคที่ขาดทุน คือ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเม่ฟ้าหลวงเชียงราย ขณะที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 5% สำหรับท่าอากาศยานในกรุงเทพ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง
ดังนั้น ทอท.ต้องจ่ายค่าตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 50-59 เป็นจำนวนเงินรวม 2 พันล้านบาท เป็นการจ่ายครั้งเดียว โดยระหว่างนี้รอหนังสือจากกรมธนารักษ์ว่าจะให้จ่ายเมื่อใด นายนิตินัย กล่าวว่า การจ่ายย้อนหลังครั้งนี้ จะไม่กระทบผลการดำเนินงานของบริษัท เพราะบริษัทจะนำกำไรสะสมที่มีอยุ่กว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายนิตินัย ยังกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ทอท.ได้ร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกองทัพอากาศ (ทอ.)ในการศึกษารูปแบบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม ในการประกอบการในเขตท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการปรับปรุงข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุให้สามารถพัฒนาการใช้ที่ราชพัสดุให้มีขอบเขตธุรกิจที่กว้างขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 3/60 จะแก้ไขระเบียบข้อตกลงได้แล้วเสร็จ หลังจากจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเสนอตัวพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งในรุปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP)