หุ้น PREB ราคาร่วงลง 7.28% มาอยู่ที่ 14 บาท ลดลง 1.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 40.91 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.43 น. โดยเปิดตลาดที่ 14.20 บาท ราคาทำระดับสูงสุดที่ 14.20 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 13.70 บาท
บมจ.พรีบิลท์ (PREB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ (17 ก.พ.) อนุมัติการขายหุ้นทั้งหมดใน บมจ.บิลท์ แลนด์ จำนวน 99.99% พร้อมบริษัทย่อย คือบริษัท บิลท์ ฮาร์ท จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารงานอาคาร โดยขายให้แก่นายชัยรัตน์ ธรรมพีร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 899.99 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินบางส่วนมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และใช้เป็นเงินทุนสำรองในการขยายงานและเป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอันเป็นธุรกิจหลัก ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมถึงเพื่อใช้ในการลงทุน หรือร่วมทุนกับบริษัทอื่น หากมีโอกาสทางการตลาดที่ดีและเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น
ขณะที่ PREB จะมุ่งเน้นในธุรกิจหลัก คือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทมีแผนขยายการเติบโตในด้านรับเหมาก่อสร้างทั้งในฐานตลาดปัจจุบันที่รับงานในโครงการขนาดใหญ่ และขยายตลาดใหม่ไปยังโครงการระดับกลาง โดยเป็นการขยายงานทั้งในส่วนของการขยายตัวของบริษัทเอง และโดยการซื้อกิจการที่ดำเนินงานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่มีฐานลูกค้าและประเภทงานต่างไปจากฐานลูกค้าเดิมของบริษัท ทำให้สามารถรองรับตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเห็นว่าแม้ว่าสัดส่วนรายได้ของส่วนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 59 จะสามารถทำกำไรได้ถึงประมาณ 45% ของกำไรในงบการเงินรวมก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากำไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตรากำไรเพียง 3-4% ของกำไรในงบการเงินรวมเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำกำไรของส่วนงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
โดยในปี 59 ส่วนงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีคอนโดมิเนียมพร้อมโอนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีอัตรากำไรเติบโตอย่างมากในปีดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นความยากในการรักษาระดับการเติบโตเช่นนี้ อีกทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ประกอบกับระยะยาวมีความเสี่ยงในการรักษาระดับการเติบโตให้คงที่อย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากลักษณะการบริหารและวิธีการดำเนินงานของผู้บริหารของทั้งสองไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การแยกการบริหารตามความชำนาญน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจนั้น ๆ