นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% จาก 2.26 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตจากโครงการในมือที่มีอยู่ (organic growth) ที่ในปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ (MW) และเป็นการเติบโตจากการร่วมลงทุนและซื้อกิจการ (M&A) ที่อยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโรงไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2-3 โครงการ คาดว่าจะสรุปในปีนี้
บริษัทตั้งงบลงทุนในปีนี้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือตามแผนราว 6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 1 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนในการทำ M&A ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวมวล ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก
นายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเข้าถือหุ้น 40% ในโครงการพลังงานลมที่ฟิลิปปินส์ ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาการลงทุนได้ภายในไตรมาส 1/60 ซึ่งโครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 36 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 14 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสามารถเข้าลงทุนได้ตามแผนก็จะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีในปีนี้ โดยจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนราว 20 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ BCPG ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าถือหุ้นบางส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนราว 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางปีนี้
รวมถึงบริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในไทยที่ภาครัฐจะเปิดออกมาในปีนี้ เช่นโครงการโซลาร์สหกรณ์ ระยะที่ 2 ราว 119 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด 568 เมกะวัตต์ เป็นต้น
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า เบื้องต้นบริษัทประเมินว่าสิ้นปี 60 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเป็นกว่า 600 เมกะวัตต์ จากกว่า 400 เมกะวัตต์สิ้นปีที่แล้ว ขณะที่เป้าหมายการมีกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ระดับ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 63 นั้น อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผนหากบริษัทสามารถทำ M&A โรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่ไม่ใช่โซลาร์ได้เพิ่มเติม เพราะการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 1 เมกะวัตต์ จะคิดเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 2 เมกะวัตต์ หรือการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ 1 เมกะวัตต์ จะเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ได้ 5 เมกะวัตต์ เป็นต้น
"ถ้าที่ฟิลิปปินส์สรุปได้เราจะมี new capacity ในปีนี้ก็ประมาณ 70 เมกะวัตต์ และถ้าได้ดีล M&A ขนาดใหญ่ในภูมิภาคที่จะสรุปกลางปีนี้อีก ก็อาจจะทำให้เป้าหมายกำลังผลิตติดตั้งเทียบเท่า solar equivalent ที่ 1,000 เมกะวัตต์น่าจะทำได้เร็วขึ้น ถ้าทุก ๆ อย่างเสร็จภายในปีนี้อาจจะมีเป้าหมายใหม่มานำเสนอ"นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จะมาจากกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่ COD เข้าสู่ระบบและจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้านากิ กำลังผลิต 14.38 เมกะว้ตต์ และรับรู้รายได้เต็มปีเป็นปีแรกสำหรับโรงไฟฟ้านิคาโฮ ในจังหวัดอะกิตะ กำลังผลิตติดตั้ง 13.16 เมกะวัตต์ และรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการโซลาร์สหกรณ์ 12 เมกะวัตต์ เป็นต้น และกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จากฟิลิปปินส์ราว 20 เมกะวัตต์