นางสาวสิตาพัชร์ นิโรจน์ธนรัฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า บริษัทขยายการให้บริการสินเชื่อไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากสินเชื่อด้านไอที โดยล่าสุดบริษัทปล่อยสินเชื่อในโครงการในสนามบินนานาชาติอุดรธานี และโครงการของสำนักงานศาลยุติธรรม รวมมูลค่ากว่า 96 ล้านบาท
"การให้สินเชื่อครั้งนี้นอกจากเสริมพอร์ตสินเชื่อให้แข็งแกร่งแล้ว ยังช่วยปรับรายได้รวมในไตรมาส 1/60 ให้เติบโตอย่างมั่นคงด้วย"นางสาวสิตาพัชร์ กล่าว
สำหรับการบริการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (Project Backup Finance) เป็นโครงการเช่าช่วงที่ดินภายในท่าอากาศยาน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ประมาณ 36,708 ตารางเมตร เพื่อดำเนินการบริหารพื้นที่ในส่วนของรับเหมาก่อสร้างต่อเติม ลานจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และบริหารจัดเก็บค่าบริการลานจอดรถยนต์ ภายในสนามบินนานาชาติอุดรธานี รวมมูลค่าสัญญากว่า 20 ล้านบาท โดยลีซ อิทสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (Project Backup Finance) ระยะเวลา 60 วัน และสินเชื่อ Leasing ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 36 งวด
ส่วนโครงการที่ 2 ลีซ อิท สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (Project Backup Finance) โครงการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ของสำนักงานศาลยุติธรรม มูลค่าสัญญา 76 ล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่หมดอายุการใช้งาน (ระยะที่ 1) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) จำนวน 162 ชุด ตู้สำหรับจัดเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Rack 42U) จำนวน 111 ตู้ เครื่องสำรองไฟฟ้า จำนวน 162 เครื่อง มูลค่าสัญญากว่า 76 ล้านบาท โดยลีซ อิท ให้การสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ Project Backup Finance ระยะเวลา 120 วัน และ ให้สินเชื่อ Factoring เพื่อรับซื้อหนี้ทางการค้าของโครงการดังกล่าวต่อเนื่องกันด้วย
นางสาวสิตาพัชร์ กล่าวว่า ผลงานในปี 59 ณ สิ้นปีบริษัทมีลูกหนี้คงค้างตามสัญญาเช่าซื้อ (Hire Purchase)และสัญญาเช่าทางการเงิน (Leasing) รวมอยู่ที่ 340 ล้านบาท และในปี 60 บริษัทตั้งเป้าหมายของสินเชื่อประเภทนี้ที่ 550 ล้านบาทเพื่อสร้างฐานรายได้ที่สม่ำเสมอ (Recurring Income) ให้กับบริษัท สำหรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (Project Backup Finance) ตั้งเป้าหมายในการทำรายได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหรือมากกว่า 35% ของรายได้รวม เนื่องจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อนี้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง บริษัทก็จะดำเนินการอย่างเข้มงวดในการดูแลบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้สำหรับสินเชื่อประเภทนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย