บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เตรียมลงทุนในปีนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับ 7 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่รวมงบการเข้าซื้อกิจการใหม่ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่คาดกำไรจากการดำเนินงานในปีนี้จะทำนิวไฮต่อเนื่อง หลังจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบอีกราว 400 เมกะวัตต์ในปีนี้
นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO กล่าวว่า กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้จะมากกว่าระดับ 9.16 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่ หลังในปีนี้จะรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามสัดส่วนร่วมทุนเข้ามาอีกราว 400 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ทีเจ โคเจน ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 เมกะวัตต์ตั้งแต่ 1 มิ.ย. ,โรงไฟฟ้าทีพี โคเจน และเอสเค โคเจน ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกฟผ.รวม 180 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพซาลัก และดาราจัท ในอินโดนีเซีย อีกราว 128 เมกะวัตต์ หลังจากมีข้อตกลงจะซื้อหุ้นโครงการนี้ 20.07% โดยคาดว่าจะโอนหุ้นแล้วเสร็จปลายไตรมาส 1/60 ซึ่งจะสร้างกำไรเข้ามาให้กับบริษัทราว 900 ล้านบาท/ปี
"แน่นอนเราต้องทำกำไรจากการดำเนินงานให้ได้มากกว่าปีที่แล้ว จากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้าระบบ และยังมองโอกาสการเติบโตจากทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย...เรามุ่งเน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศที่มีฐานอยู่แล้วและสามารถขยายตลาดได้อีก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมทั้งลาว และอินโดนีเซีย รวมทั้งแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม และเมียนมา เป็นต้น"นายชนินทร์ กล่าว
นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปีนี้ 3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับระดับ 3.3 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้โครงการ (project finance) และเป็นเงินจากส่วนทุนของบริษัทอีกราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินสดในมือ และเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงเงินกู้บางส่วน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งรูปแบบของเงินกู้หรือการออกหุ้นกู้ ขึ้นอยู่กับตลาดและความจำเป็นในการใช้เงินลงทุน โดยงบลงทุนดังกล่าวไม่รวมเงินลงทุนเพื่อการร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการ (M&A) ที่จะเกิดขึ้นใหม่
สำหรับเงินลงทุนในปีนี้ จะใช้สำหรับ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการ SPP ในประเทศ 3 โครงการ จะเดินเครื่องผลิตในปี 60 ,โรงไฟฟ้าไซยะบุรี ในลาว ซึ่งตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 62 แต่ก็มีโอกาสที่จะแล้วเสร็จบางยูนิตได้ในช่วงปลายปี 61 เนื่องจากปัจจุบันโครงการมีความีคืบหน้าอยู่ระดับ 73.84% มากกว่าแผนที่ตั้งไว้ 61.55% ,โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา และโรงไฟฟ้ามาซินลอค หน่วยที่ 3 ในประเทศฟิลิปปินส์ จะเริ่มเดินเครื่องผลิตในปี 62 รวมทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการโอนหุ้น 1 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพซาลัก และดาราจัท ในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1/60
ทั้งนี้ งบลงทุนดังกล่าวไม่รวมการลงทุนในโครงการใหม่ที่เตรียมเข้าไปลงทุน ทั้งการซื้อโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อรับรู้รายได้ทันทีและโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในต่างประเทศอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ขนาด 920 เมกะวัตต์ ที่จะถือหุ้น 30% อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 1 ขนาด 650 เมกะวัตต์ ที่จะถือหุ้น 25% ล่าสุดอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) หลังจากรัฐบาลเห็นชอบแล้ว โดยคาดว่าจะเซ็น PPA ได้ราวเดือน ก.ค.60 และคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 65
ส่วนอินโดนีเซียมี 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ส่วนขยาย หน่วยที่ 3 และ 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการเจตรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าของอินโดนีเซีย และเวียดนามมี 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเสนอขายไฟฟ้ากับรัฐบาลเวียดนาม
นายชนินทร์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย บริษัทเล็งเห็นโอกาสลงทุนในโรงไฟฟ้า SPP และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียน โดยให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐที่จะเปิดรับซื้อใหม่ในปีนี้ ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 , SPP Hybrid Firm ,โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประชารัฐ เป็นต้น แต่ยังต้องรอศึกษารายละเอียดจากประกาศการรับซื้อของรัฐบาลออกมาก่อน รวมทั้งจะพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ของบริษัทกับกฟผ.ด้วย
บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 30% และการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดลงมาที่ 70% ภายในปี 69 จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 18% และจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 82% ขณะที่ยังมีเป้าหมายจะรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อย่างน้อย 10%
สำหรับความคืบหน้าของการใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีทั้งสิ้น 2 โครงการที่เดินเครื่องผลิตแล้วและตั้งอยู่ในพื้นที่ของ ส.ป.ก.นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจาก ส.ป.ก.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่มั่นใจว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด และมีการช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่
ด้านนายปิยะ เจตะสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน ของ EGCO กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อย มีภาระหนี้ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า 90% เป็นเงินกู้ และได้ออกหุ้นกู้ไปไม่มากนักราว 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมดแล้ว เพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันมีภาระอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5%