นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานปี 60 บริษัทมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพและเสถียรภาพของโรงไฟฟ้า หงสาให้เดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ และควบคุมการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมหลวนหนานและโจวผิงให้เป็นไปตามแผน พร้อมกับนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency Low Emissions: HELE) มาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินโครงการใหม่ทุกแห่ง
ขณะเดียวกันก็เน้นขยายการลงทุนใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศ CLMV และมองหาโอกาสลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล ในประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ ตามกลยุทธ์การกระจายการลงทุนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้ง ไทย ลาว ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยผสมผสานทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามข้อตกลงจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 22 หรือ COP22 อีกด้วย
“บ้านปู เพาเวอร์ฯ กำลังเดินหน้าสู่การขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยแบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 เราจึงมุ่งบริหารจัดการดำเนินการของโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่มีอยู่ในแต่ละประเทศให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ พร้อมกับรักษากระแสเงินสดให้มั่นคง และแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในพลังงานรูปแบบต่างๆ ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย โดยมีการประเมินอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการต่างๆ สามารถพัฒนาได้ตามแผน เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย" นายวรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ BPP ในปี 63 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2,580 เมกะวัตต์ หลังจากปี 61 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาที่ 2,520 เมกะวัตต์
นายวรวุฒิ กล่าวว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำตามสัดส่วนการถือหุ้นในปี 59 รวมทั้งสิ้น 1,934 เมกะวัตต์เทียบเท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 323 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าหงสา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าที่เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วโดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ มีกำลังการผลิตทั้งหมด 651 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วเสร็จอยู่ร้อยละ 35 และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 61
นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมหลวนหนานระยะที่ 2 และโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมโจวผิงระยะที่ 4 ในประเทศจีน ซึ่งจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 62 และ 63 ตามลำดับ รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 60-61