นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เปิดเผยว่า ในปี 60 ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีอย่างชัดเจน รวมถึงธุรกิจ Startup จึงเชื่อว่าจะมีงานใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ MFEC จะปฏิรูป (Transform) วิธีการบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อรองรับกับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น พร้อมผลักดันองค์กรให้มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องในทุกปี เพื่อสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“กลยุทธ์ที่ MFEC กำลังทำมี 2 มิติ คือ 1. ใช้เทคโนโลยียกระดับหรือพัฒนาธุรกิจที่เปลี่ยนไป และ 2.สร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพ โดยทำให้องค์กรเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนและพัฒนาทักษะร่วมกันจนประสบความสำเร็จ โมเดลการทำธุรกิจแบบนี้ทำให้ภาพในอดีตที่ทุกคนเป็นเสมือนลูกจ้างเปลี่ยนไป นับจากนี้พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็น Startup ที่กำลังคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ซึ่งสนุกสนานและเปิดศักยภาพมากกว่าเดิม"นายศิริวัฒน์ กล่าว
แต่เดิม MFEC ทำธุรกิจด้วยการใช้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ ผนวกกับสินค้าของพาร์ทเนอร์ไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า แต่ด้วยการมาของเทคโนโลยี Cloud Computing ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์จะค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งเหลือแต่ Application layer แม้จะดูเหมือนเป็นภาวะคุกคามสำหรับธุรกิจไอที แต่ MFEC ก็ปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยการคลุกคลีและเข้าใจโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า แล้วใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีไปตั้งโจทย์ใหม่ แก้ปัญหา หรือปรับโมเดลทางธุรกิจให้กับลูกค้าที่กำลังถูกความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีคุกคามอยู่เช่นกัน
นอกจากนี้ จากสภาพทางการเงินที่บริษัทมีเงินสดล้นมือ เป็นโอกาสและสัญญาณที่ควรเริ่มลงทุน บริษัทจึงมีนโยบายเป็น Corporate Venture Capital (CVC) ให้กับพนักงานที่พร้อมจะแตกตัวออกไปเป็นบริษัท Startup ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในบริษัท Startup ทั่วไป อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมรับผิดชอบกับความเติบโตและยั่งยืนของบริษัท และยังเป็นโอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานอีกด้วย
นายศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงปลายปี 59 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติให้บริษัทลงทุนในธุรกิจโครงการใหม่ร่วมกับพนักงาน โดยตั้งบริษัท Playtorium Solutions จำกัด บริษัทจะเข้าถือหุ้นสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท คิดเป็น 3.5 ล้านบาท โดยบริษัท Playtorium Solutions จำกัด ดำเนินธุรกิจหลักในการให้บริการทดสอบซอฟต์แวร์แบบครบวงจร และ “Crowd Testing" พร้อมทั้งให้บริการจัดหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านไอที ต่างๆ เพื่อทำงานในโครงการตามที่ลูกค้าต้องการ
สำหรับการลงทุนดังกล่าว เพื่อจะทำให้บริษัทสามารถขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางมากขึ้น เสริมสร้างความเป็นผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศให้แข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดยิ่งขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนด้านการเงินนั้น คาดว่า บริษัท Playtorium Solutions จำกัด จะเริ่มทำกำไรให้บริษัทตั้งแต่การดำเนินงานปี 60 เป็นต้นไป
“การเปิด “PLAYTORIUM" ถือเป็นศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และสำนักงานสาขาที่ 2 ของ MFEC ที่จะสะท้อนภาพขององค์กรที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่กับการยกระดับการทำงานภายใต้แนวคิด “New Office – New Culture" 4 ประการ ประกอบด้วย 1.Collaboration 2. Communication 3. Concentration 4. Chill Out" นายศิริวัฒน์ กล่าว
นายศิริวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือกับยอดฝีมือแห่งวงการเพลงรักเมืองไทย "บอย โกสิยพงษ์" ผู้บริหารค่ายเพลงเลิฟอีส (LOVEiS) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการสร้างแอพพลิเคชั่น “Fanster" โดยเป็น App ที่ให้ผู้ที่ชื่นชอบศิลปินในค่าย LOVEiS ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินที่ชื่นชอบ โดย MFEC เป็นผู้พัฒนา App ดังกล่าว และจะมีรายได้จาก Platform นี้ในอนาคต
“เป้าหมายของ Fanster นี้ เราพยายามหารายได้จากความสามารถในการเข้าถึงของคนในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเพลงและศิลปินใกล้ชิดขึ้น มีส่วนร่วมระหว่างกันมากกว่าเดิมผ่านเทคโนโลยี ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ ทำให้ได้ประโยชน์กับธุรกิจและมีรายได้มาสนับสนุนศิลปินเพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ พูดง่ายๆ ว่า วินๆ กับทุกฝ่าย ทั้งแฟนคลับ ศิลปิน และธุรกิจ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้การันตีว่างานนี้จะประสบความสำเร็จ มันคือการลองผิดลองถูกกับประสบการณ์ใหม่และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซี่งจำเป็นต้องทำในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา" นายศิริวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ MFEC ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโครงการ Industrial Liaison Program หรีอ ILP ถือเป็นการรวมความแข็งแกร่งของ 2 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาและวิจัยงานด้าน Data Science และ Big Data ตลอดจนตั้งเป้าผลิตบุคลากร “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist" ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะแทรกเข้าไปในหลายมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากเป้าหมายการผลิตบุคลากรด้าน Data Scientist และการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวแล้ว MFEC และจุฬาฯได้วางแผนจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ “Data Café Thailand" เพื่อใช้พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการให้คำปรึกษา โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล และองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ มีการวางแผนจัดหลักสูตรอบรมให้กับนักศึกษาและองค์กรภายนอก รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อทดสอบเทคโนโลยีด้าน Data Science สำหรับผู้ที่สนใจหรือองค์กรที่กำลังพิจารณานำ Data Science ไปใช้ในเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลน
“เราได้ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อรองรับกับโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น พร้อมผลักดันองค์กรให้มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยวางแผนสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และใช้เงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า พร้อมทั้งขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และการปรับเปลี่ยนของวงการไอที และ Startup รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ MFEC ซึ่งโมเดลเดิมนั้นจะเป็นวันแมนโชว์ เป็นผู้ขายเทคโนโลยีเพื่อให้ลูกค้านำไปแก้ปัญหาของตัวเอง แต่กลยุทธ์ใหม่ตอนนี้คือทำอย่างไรให้พนักงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ เหมือนกับที่เรา success"นายศิริวัฒน์ กล่าว