นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 59 ว่ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,018.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.68 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 58 มีกำไรสุทธิ 984.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.24 โดยเป็นรายได้จากการบินประมาณร้อยละ 70 และอีกประมาณร้อยละ 30 เป็นรายได้จากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ปริมาณการจราจรทางอากาศในปี 59 (ม.ค.-ธ.ค.59) มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 69,202 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 58 ร้อยละ 8.39 มีสายการบิน ที่บินประจำภายในประเทศ จำนวน 8 สายการบิน ทำการบินใน 18 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศ จำนวน 24 สายการบิน ทำการบินใน 19 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ย 215 เที่ยวบินต่อวัน และ มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 18,512 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 58
มีจำนวนผู้โดยสาร 9.45 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 58 เกือบร้อยละ 13 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 58 ประมาณร้อยละ 10 การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารชาวจีนดังกล่าวนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่จำเป็นต้องขยายเวลาให้บริการในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์
ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี แต่นับตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นมา อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดในปี 59 มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการมากกว่า 9.45 ล้านคน ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขยายพื้นที่การให้บริการ และบริหารจัดการเส้นทางเดินของผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากที่สุด ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากลและมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงที่ 1 เป็นการรวมแผนพัฒนาระยะสั้นกับระยะกลาง (ปี 59-68) มีเป้าหมายที่จะรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในปี 73 เพื่อรองรับผู้โดยสารประมาณ 18 ล้านคน และแผนพัฒนาช่วงที่ 2 ระยะยาว (ปี 69-73) มีเป้าหมายที่จะรองรับ ปริมาณจราจรทางอากาศในปี 78 เพื่อรองรับผู้โดยสารประมาณ 20 ล้านคน นั้น
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) โดย ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ใช้ระยะเวลาในการจัดทำรายงาน EIA และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีประมาณ 2 ปี โดยจะเริ่มรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครั้งแรกในช่วงกลางเดือนมีนาคมศกนี้ จากนั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนพัฒนาได้ในปี 62
ประกอบด้วยงานที่สำคัญ อาทิ
1. งานก่อสร้างปรับปรุงทางขับ (Taxiway) และทางขับออกด่วน (Rapid Exit Taxiway)
2. งานก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยานบนพื้นที่ทางขับขนานเดิม พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอด อากาศยานเดิมให้สามารถรองรับอากาศยานได้รวม 31 ลำ
3. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 7 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ประมาณ 78,000 ตารางเมตร งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเดิม และก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมโดยมีส่วนต่อขยายของอาคารอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารเดิม ทำให้อาคารมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ประมาณ 37,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ และลานจอดรถยนต์ให้สามารถรองรับได้ 300 คันสำหรับรถขนส่งสาธารณะที่มาให้บริการ
4. งานปรับปรุงระบบถนนเส้นทางเข้าออกท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อใช้รองรับอาคารผู้โดยสาร ที่ก่อสร้าง และปรับปรุงตามแผนพัฒนา และให้เกิดประสิทธิภาพในระบบสัญจรบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่
5. งานก่อสร้างอาคารจอดรถผู้โดยสารภายในประเทศ และสำนักงานสายการบิน ตั้งอยู่บริเวณ ฝั่งตรงข้ามอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เป็นอาคารจอดรถยนต์ 8 ชั้นสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้ประมาณ 2,500 คัน พร้อมกับก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8,000 ตารางเมตร