PTTEP ยันเงินสด-เงินกู้พร้อม 6 พันล้านเหรียญฯ เตรียมลุย M&A ในไทย-อาเซียน-ตอ.กลาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 2, 2017 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงยศ ครองพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทยังมองโอกาสการเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย มาเลเซีย เมียนมา และอินโดนีเซีย รวมถึงตะวันออกกลาง เพื่อเสริมพอร์ตปิโตรเลียมในมือให้มากขึ้น ขณะที่มีเงินสดในมือสูงถึงราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีศักยภาพในการกู้เงินได้อีก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพียงพอรองรับการลงทุนใหม่

"การทำ M&A เราสนใจทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง เรามีศักยภาพที่จะกู้ได้ 2 พันล้านเหรียญฯ และมีเงินสด 4 พันล้านเหรียญฯ พร้อมทำ M&A ซึ่งจะเน้นแหล่งที่ผลิตแล้วหรือใกล้ผลิต เพื่อเพิ่มวอลุ่มและปริมาณสำรอง"นายยงยศ กล่าว

นายยงยศ กล่าวว่า ตลาดของการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคยังมีอยู่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจะไม่สามารถประมูลเข้าซื้อหุ้น 22.22% ของแหล่งบงกชในอ่าวไทยที่กลุ่มเชลล์เสนอขายได้ก็ตาม แต่ในอินโดนีเซียก็มีแหล่งปิโตรเลียมที่ใกล้จะหมดสัมปทาน และอาจจะมีการเปิดสัมปทานใหม่ออกมา ขณะที่มีข่าวเชฟรอนก็อยู่ระหว่างพิจารณาจะขายสัดส่วน 16% ของแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทยนั้น บริษัทก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ขั้นต้นคือการลงทุนในแหล่ง LNG ขั้นกลางคือการนำก๊าซฯ ขึ้นมาแปลงสภาพเป็น LNG ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลว (Liquefaction) ก่อนนำออกจำหน่าย รวมถึงในอนาคตจะนำไปสู่การทำ LNG Trading ด้วย

การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อรองรับการเติบโต รวมถึงยังช่วยรองรับการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งบงกชที่ใกล้หมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็นราว 25% ของกำลังผลิตรวมของบริษัทและสร้างรายได้ราว 25% ของรายได้บริษัท

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดของแหล่งบงกช คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือน มี.ค.นี้ และรัฐบาลน่าจะออกประกาศเชิญชวนประมูลได้ราวเดือน ก.ค. และประกาศผู้ได้รับคัดเลือกได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจที่จะเข้าร่วมประมูล เพราะมีความเชี่ยวชาญในแหล่งผลิตดังกล่าวค่อนข้างดีก็น่าจะได้รับการพิจารณา

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการในมือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุน 3 โครงการ ได้แก่ แหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมและเตรียมแผนพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 64 และมีกำลังผลิตราว 25,000-30,000 บาร์เรล/วัน

โครงการ โมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของโมซัมบิก บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) ภายในปี 60 ด้วยกำลังการผลิตเฟสแรกของโครงการประมาณ 12 ล้านตัน/ปี ในปี 65-66

โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ในแอลจีเรีย ตั้งเป้าหมายจะผลิตน้ำมันราว 50,000 บาร์เรล/วัน ในปี 66

นายยงยศ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการออยล์แซนด์ในแคนาดา อยู่ระหว่างหารูปแบบการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันอยู่ระดับต่ำ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในปีนี้ ถึงต้นปีหน้า

โครงการแหล่ง Cash Maple ซึ่งเป็นแหล่ง LNG ในออสเตรลียนปัจจุบันได้รับการขยายระยะเวลาสำรวจออกไปอีก 5 ปีนั้น บริษัทกำลังพิจารณาว่าจะลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างไร และมองหาพันธมิตรในแถบนั้นเพื่อร่วมดำเนินการทั้งอาจเป็นรูปแบบร่วมลงทุน หรือการแชร์ความร่วมมือต่างๆร่วมกัน จากปัจจุบันที่บริษัทถือสัดส่วนทั้งหมด 100%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ