นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST กล่าวว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในเดือนมี.ค. ยังต้องจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วในเดือนนี้ จะกดดันตลาดให้มีความผันผวนและเงินไหลออกจากหุ้นไทยช่วงสั้น โดยคาดดัชนีเคลื่อนไหว 1,530-1,550 ในระยะสั้น ๆ นี้
"ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนการประชุมเฟด ตลาดจะผันผวนมากกว่าปกติและยังมีตัวแปรอื่นอีก เช่น ราคาน้ำมัน แนวโน้มผลการเลือกตั้งฝรั่งเศส และนโยบายเศรษฐกิจใหม่ ๆ ของรัฐบาล ดังนั้น ตลาดจึงยังมีความเสี่ยงขาลงคาดว่าในเดือนมี.ค.นี้ ดัชนีจะเคลื่อนไหวในกรอบ1,530 -1,550 จุด"นายวิน กล่าว
นายวิน กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้แถลงนโยบายต่อสภาไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยจะเดินหน้าลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐตามที่หาเสียงไว้ คือ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคในวงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และแผนการปฎิรูปด้านภาษีทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัว จึงสะท้อนออกมาเป็นบวกตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยค่าเงินดอลลาร์และ Dow Jones Futures ปรับตัวสูงขึ้น เป็นการตอบรับในทางที่ดีของนักลงทุน
ดังนั้น จึงเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ว่าจะขยายตัวและอาจจะเป็นผลทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้ ซึ่งค่าความน่าจะเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเดือน มี.ค. ปรับขึ้นจาก 52% เป็น 80% หลังการแถลงนโยบาย
ทั้งนี้ KTBST ประเมินว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ออกจากตลาดเกิดใหม่และรวมทั้งหุ้นไทย ซึ่งเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นโดยรวม แต่มองว่าผลกระทบไม่มาก ควรเพิ่มสัดส่วนเงินสดเพื่อรอซื้อหุ้นเมื่อดัชนีปรับตัวต่ำกว่า 1,550 จุด
โดยหุ้นที่มีความเสี่ยงมากได้แก่หุ้นที่ต่างชาติมีการซื้อ (Net Buy Position) จำนวนมากในช่วงก่อนหน้านี้ จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 ถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เริ่มมีเม็ดเงินจากต่างชาติจำนวนมาก พบว่าหุ้น 5 อันดับที่มีมูลค่าซื้อสูงที่สุด ได้แก่ KBANK, PTT, PTTGC, SCB และ AOT จึงมองว่าหุ้นทั้ง 5 บริษัทที่กล่าวมาจะมีความเสี่ยงที่จะถูกต่างชาติเทขายมากที่สุด นอกจากนี้หุ้นที่มีความเสี่ยงอีกกลุ่ม ได้แก่ หุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อ (Net Buy Position) ใน 30 อันดับแรก และมี P/E สูงสุด 5 อันดับ ซึ่ง ได้แก่ TRUE, MTLS, BEM, BDMS, BH
อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มส่งออกยังได้แรงหนุนจากบาทอ่อนและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวขึ้น หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าและเงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคลและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีบรรยากาศที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะช่วยส่งผลบวกอย่างมากต่อหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่กลุ่มธนาคารจะได้บวกจากดอกเบี้ยขึ้น แต่ราคาหุ้นอาจไปมีผลกับเงินทุนไหลออก โดย KTBST มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ไปอีกระยะหนึ่งซึ่งจะไม่ส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคาร นอกจากนี้กลุ่มธนาคารที่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นสูงและด้วยมุมมองที่ว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวลงจากเงินไหลออก จึงคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้จะทรงตัวหรือบวกได้เล็กน้อยเท่านั้นโดยมีแรงหนุนแค่การปรับตัวขึ้นของราคาพันธบัตร