ARROW มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 10-15% ปรับขึ้นราคาสินค้าสะท้อนต้นทุนเหล็กสูง,ศึกษาตั้งรง.ในตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 6, 2017 09:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานินทร์ ตันประวัติ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอร์โรว์ ซินดิเคท (ARROW) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่ารายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% มาที่ราว 1,500-1,600 ล้านบาท หลังมียอดขายรอส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 270 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดใน 3 เดือน และตั้งเป้าที่จะรักษา Backlog ให้อยู่ในระดับ 250-300 ล้านบาท เพื่อที่จะให้มีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจุบันโรงงานผลิตท่อร้อยสายไฟใต้ดิน ชนิดท่อ RTRC (Reinforced Thermosetting Resin Conduit) แห่งที่ 2 บนพื้นที่ 7 ไร่ สามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตได้เร็วขึ้นถึง 30% นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมงบลงทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมอีกราว 20-30 ล้านบาทด้วย

นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะรักษาอัตรากำไรสุทธิไว้ที่ 18-22% โดยจะไม่เน้นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาถึง 60% แล้ว ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือเรื่องของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาวัตถุดิบหลัก คือเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับราคาสินค้าขึ้นมาราว 15% เพื่อสะท้อนกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยต้นทุนเหล็กมีสัดส่วนอยู่ 60-70% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

"ความเสี่ยงจริง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเราคงไปดูในเรื่องของราคาวัตถุดิบ ที่มีราคาผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลกับมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด จากประเทศไต้หวัน จีน และเกาหลี ซึ่งเราจะไม่เน้นรับงานที่เป็นคำสั่งซื้อระยะยาว เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการต้นทุน และรักษาอัตรากำไรสุทธิในระดับที่เราต้องการได้"นายธานินทร์ กล่าว

นายธนินทร์ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนจากภาครัฐที่จะมีอย่างต่อเนื่อง และความต้องการใช้ท่อ RTRC ยังมีอยู่สูงในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีเหลือง งานนำสายไฟลงดินที่จะเร่งรัดเหลือ 5 ปี รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 นอกจากนี้ในปีนี้ บริษัทยังเริ่มรับรู้รายได้จากท่อร้อยสายไฟใต้ดินที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ ม.อ.ก. เป็นรายแรกของไทย

นอกจากนี้ยังจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มวงเงินให้ดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน จาก 24 ท่อเป็น 30 ท่อ วงเงิน 9,088.8 ล้านบาท จากเดิม 5,699 ล้านบาท ในโครงการนนทรี ในขณะเดียวกันยังมีโครงการปทุมวัน จิตรลดา ปทุมวัน โครงการพระราม 3 ที่ผู้รับเหมาอยู่ระหว่างการประมูลโครงการ โดยปัจจุบันบริษัทได้เสนอราคาให้กับผู้รับเหมาต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าแล้ว และคาดว่าจะได้งานแน่นอน

ขณะที่นโยบายสนับสนุนการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ยังต้องรอการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงก่อน บริษัทถึงจะได้รับประโยชน์ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาที่จะเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศเวียดนาม เมียนมา และ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีการเติบโตการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะสามารถเข้าไปลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้มีระยะเวลากำหนดในการสรุปแผนลงทุน ซึ่งบริษัทมีความพร้อมเกี่ยวกับเงินทุน เนื่องจากปัจจุบันมีกำไรสะสมอยู่ราว 500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.17 เท่า

ส่วนบริษัท เมฆา-เอส ที่เป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นอยู่ 65% และประกอบธุรกิจรับเหมาติดตั้งงานระบบในอาคารนั้น บริษัทมีการวางแผนให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 60 ตั้งเป้ารับงาน 400 ล้านบาท และสามารถสร้างรายได้ 300 ล้านบาท ขณะที่ปี 61 ตั้งเป้าที่จะรับงาน 500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทหวังว่าจะสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ