โบรกฯแนะ"ซื้อ"SPA มอง"ไทยเกอร์ อายส์"หนุนรายได้เพิ่ม-เสริมธุรกิจแกร่ง,รับผลดีนักท่องเที่ยวโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 6, 2017 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) หลังคาดได้รับผลบวกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่จะเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไทเกอร์ อายส์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสปาให้กับร้านค้าภายในประเทศ และบริษัท ไทเกอร์ อายส์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจทางด้านโรงเรียนเกี่ยวกับการดูแลความงาม ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจจะช่วยเสริมธุรกิจหลักของ SPA ให้มีสายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น และมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ขณะที่การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้ และการเปิดสาขาใหม่อีก 10 แห่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าบริการจะช่วยหนุนผลประกอบการปี 60

หุ้น SPA พักเที่ยงอยู่ที่ 13 บาท ลดลง 0.10 บาท (-0.76%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.34%

          โบรกเกอร์                      คำแนะนำ               ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)               ทยอยซื้อ                     15.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)        ซื้อ                        15.00
          ทิสโก้                            ซื้อ                        14.70
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ"ทยอยซื้อ"สำหรับหุ้น SPA ให้ราคาเป้าหมายที่ 15.00 บาท จากการเข้าลงทุนใน 2 ธุรกิจที่จะช่วยสร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง หลัง บริษัท สยามเวลเนสแล็บ จำกัด (SWL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อขายกิจการบริษัท ไทเกอร์ อายส์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) (TGT) ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสปาให้กับร้านค้าภายในประเทศ โดยเป็นตัวแทนสินค้าจากฝรั่งเศส ,อังกฤษ ,สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมถึงการเข้าซื้อบริษัท ไทเกอร์ อายส์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (TGE) ผู้ดำเนินธุรกิจทางด้านโรงเรียนเกี่ยวกับการดูแลความงาม โดยเปิดสอนหลักสูตรสปาและเสริมความงามให้แก่นักบำบัด (Therapist) ทั้งในและนอกประเทศ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อกิจการข้างต้น แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่อขนาดสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทางฝ่ายประเมินการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะเป็นการช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักของ SPA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SWL ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยจะเข้ามาเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าลงทุนในธุรกิจโรงเรียนสปาจะช่วยลดความเสี่ยงจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 (พ.ร.บ.สปา) ที่ต้องมีการฝึกอบรมตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับเป็นการรองรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นของนักบำบัดสอดคล้องกับการขยายสาขาของ SPA ในขณะที่ยังคงมาตรฐานการบริการในระดับสูงไว้ได้

แนวโน้มปี 60 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังมีปัจจัยกดดันตลอดช่วงไตรมาส 4/59 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง จากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ อย่างไรก็ตาม มาตรการเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นทำให้ประเด็นดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง สอดคล้องกับแผนการเติบโตของ SPA ในปี 60 ที่ตั้งเป้าจะขยายสาขาต่อเนื่องอีก 10 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 31 สาขา โดยแบ่งเป็น สปาระดับ 5 ดาว ภายใต้แบรนด์ "ระรินจินดา" จำนวน 3 สาขา ,สปาระดับ 4 ดาวภายใต้แบรนด์ "Let's Relax" จำนวน 20 สาขา แบ่งเป็น ในประเทศ 19 สาขา และต่างประเทศ 1 สาขา และสปาระดับ 3 ดาวภายใต้แบรนด์ "บ้านสวน มาจสาจ" จำนวน 8 สาขา ขณะที่บริษัทยังรักษาอัตราการเข้าใช้บริการเฉลี่ย (Utilization rate) ที่สูงมากกว่า 85%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ TGT และ TGE เปิดโอกาสด้านการขายผลิตภัณฑ์สปาให้กับ SPA เพิ่มขึ้นทันที 50% จากฐานในปี 59 อีกทั้งยังจะสนับสนุนการทำงานในปัจจุบันได้ทันที ทั้งเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ และ การพัฒนานักบำบัด เพื่อรองรับการขยายสาขาปีละ 10 แห่ง

สำหรับเข้าซื้อกิจการดังกล่าวใช้เงินทุน 1 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นคู่ค้ากับ SPA อยู่แล้วก่อนหน้านี้ โดย TGT ทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าสปาและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จาก สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ แคนาดา โดยจะจัดจำหน่ายให้กับร้านสปาในประเทศ (ส่วนใหญ่ระดับ 5 ดาว) มียอดขายปีละ 10-20 ล้านบาท ส่วน TGE ทำธุรกิจด้านการสอนอบรมการนวดสปาให้กับลูกค้าของ TGT มีรายได้ปีละ 1-2 ล้านบาท

"เรามีมุมมองบวกต่อรายการนี้ เนื่องจาก SPA ใช้เงินทุนเพียงเล็กน้อย แต่สามารถเพิ่มรายได้ในการขายได้ 50% จากฐานเดิม โดยอ้างอิงจากงบการเงินของ TGT รายได้จากการขาย ให้อัตรากำไรขั้นต้นสูง 50% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยรวมของ SPA ที่ 34.3% ในปี 59 ขณะที่ TGT และ TGE เป็นคู่ค้าที่ SPA ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งแม้ว่า SG&A จะสูงราว 50% ของยอดขาย และการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 จะเป็นตัวกดดันให้ TGT และ TGE ต้องขาดทุน 1.9 และ 0.3 ล้านบาท/ ปี ตามลำดับ แต่เราเชื่อว่า SPA จะสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้จากประสบการณ์ที่สูง ระบบการทำงานที่ดี และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับสินค้าของ TGT จะช่วยให้ SPA ลดต้นทุนในการให้บริการได้บ้าง ส่วน TGE ก็จะช่วยสนับสนุนการผลิตหมอนวดให้ทันท่วงที เนื่องจาก SPA มีแผนขยายสาขาถึงปีละ 10 แห่ง ต้องใช้หมอนวดใหม่จำนวนมาก 200-300 คน/ ปี"นักวิเคราะห์ กล่าว

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ส่วนทิศทางในไตรมาส 1/60 การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีน คาดจะทำให้ผลการดำเนินงานออกมาสดใส และคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 3% โดยคาดอัตรากำไรสุทธิในปีนี้จะปรับตัวขึ้นที่ 35.4%

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ประเมินแนวโน้มผลประกอบการปี 60 ของ SPA จะถูกขับเคลื่อนจากแผนการเปิดสาขาเพิ่มเติมอีก 10 สาขา โดยจะเปิดในช่วงไตรมาส 1/60 ราว 3 สาขา ได้แก่ Let’s Relax กะรน,กระบี่และ Baan Suan อุดรธานี และการปรับราคาค่าบริการเฉลี่ยขึ้นอีกราว 5% ในปีนี้ บวกกับกระแสตอบรับของ Let’s Relax Onsen ค่อนข้างดี รวมถึงการเดินหน้าทำการตลาดสินค้าสปาอย่างจริงจังมากขึ้นหลังเข้าซื้อกิจการไทยเกอร์อายส์ฯ การลงทุนขยายตลาดในต่างประเทศที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังสาขาในจีนเริ่มมีรายได้เข้ามา

ประกอบกับ แนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดจะเติบโตต่อเนื่องเป็น 35 ล้านคน จะเห็นได้จากนักท่องเที่ยวยุโรปที่เริ่มกลับมา และยังได้รับผลบวกจากการต่อมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว 21 ประเทศไปอีก 6 เดือน จากเดิม ก.พ.60 เป็น ส.ค.60

ขณะที่การเข้าซื้อธุรกิจผลิตภัณฑ์สปาและโรงเรียนสอนนวดในครั้งนี้ มองว่าเป็นโอกาสขยายตลาดผลิตภัณฑ์สปาที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 5% ของรายได้ และช่วยเสริมฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้นเพราะได้ครูสอนนวดและหลักสูตรเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ