ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม ML ที่ “BBB-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 6, 2017 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไมด้า ลิสซิ่ง (ML) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) ซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์และผลกำไรที่สม่ำเสมอ รวมไปถึงการมีเครือข่ายสาขาที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ และการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์และส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อคงค้างของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินไปพร้อมกับการรักษาฐานทุนให้แข็งแกร่งเอาไว้ได้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มหากบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดและสถานะทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นโดยที่ยังสามารถรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัท

ML ก่อตั้งในปี 2543 โดยมี MIDA เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 46.98% และเป็นบริษัทแม่ นับตั้งแต่การก่อตั้ง บริษัทเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วเป็นหลัก ปัจจุบันตลาดหลักของบริษัทคือสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2,500 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมียอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างเติบโตขึ้น 10.3% จากปีก่อนหน้า หรือเท่ากับ 2,859 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อในสัดส่วน 93% และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) อีก 7%

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2.3% และ 3.6% ในระหว่างปี 2553 ถึงปี 2556 การตัดหนี้สูญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ณ สิ้นปี 2557 และแม้จะมีการตัดหนี้สูญออกไป อัตราส่วนดังกล่าวก็ยังปรับเพิ่มขึ้นมาอีกที่ระดับ 3.7% ณ สิ้นปี 2558 และ 4.3% ณ สิ้นปี 2559 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งหวังให้บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นกับการติดตามหนี้สินและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ในปี 2554 และปี 2555 รัฐบาลได้ออกมาตรการคืนภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลทำให้ราคารถยนต์มือสองในตลาดตกต่ำเป็นอย่างมากเพราะผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์ใหม่แทนเพื่อใช้สิทธิในการขอคืนภาษี ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบจากผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากราคารถมือสองที่ปรับตัวลดลง โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 112 ล้านบาทในปี 2556 ลดลง 16% จาก 134 ล้านบาทในปี 2555

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2557 ยังคงลดลงจากกำไรสุทธิที่ลดลงเหลือ 87 ล้านบาท หรือลดลง 22.4% จากปี 2556 การลดลงของกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานซึ่งรวมผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขายที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 250 ล้านบาทในปี 2557 จาก 219 ล้านบาทในปี 2556 ซึ่งผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากราคารถมือสองที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญถึง 52 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งสูงมากกว่ามูลค่าการตั้งสำรองฯ ในปี 2556 ที่ระดับ 37 ล้านบาทถึงเกือบ 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรวมในปี 2557 ลดลงเป็น 2.3% จาก 2.6% ในปี 2556 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.3% ในปี 2557 จาก 4.2% ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 103 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 18% จากปี 2557 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ในปี 2558 ผลกำไรที่ดีขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิประจำปี 2559 ที่ 118 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.7% ผลกำไรที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้กำไรจากการขายหลักทรัพย์เพื่อค้าซึ่งบริษัทได้ใช้เงินสดส่วนเกิน ณ ขณะนั้นไปลงทุน

นับตั้งแต่ปี 2553 ฐานทุนของบริษัทค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.6% ณ สิ้นปี 2557 จาก 38.6% ในปี 2553 ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเล็กน้อยเป็น 53.1% ณ สิ้นปี 2558 และ 47.3% ณ สิ้นปี 2559 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง โดยการทำกำไรอย่างต่อเนื่องของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าบริษัทมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อแม้ว่าบริษัทจะใช้เงินกู้เพิ่มเติมก็ตาม การขยายฐานสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญจะเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัท โดยในขณะนี้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างต่ำและไม่มีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ