บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ ‘A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’ และนำอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นดังกล่าวออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การนำอันดับเครดิตของ SCCC ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ และคงอันดับเครดิตของ SCCC สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ ฟิทช์ว่า SCCC น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ ‘A(tha)’ ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า ภายหลังจากแผนการเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทเสร็จสมบูรณ์ ฟิทช์ได้พิจารณารวมการเพิ่มทุนครั้งนี้เข้าไปในสมมติฐาน เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ SCCC มีคำมั่นที่จะสนับสนุนการเพิ่มทุนในครั้งนี้ การเพิ่มทุนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นของบริษัทฯ ในการที่จะคงอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ แม้ในช่วงที่มีการขยายธุรกิจและการลงทุนที่สูง
ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ SCCC จะลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5 เท่า – 3.0 เท่าในปี 2560-2561 และต่ำกว่า 2.5 เท่าในปี 2562 การเพิ่มทุนน่าจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่ออัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ภายหลังจากที่มีการขยายการลงทุนซื้อกิจการ โดยช่วยลด FFO adjusted net leverage ให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ ‘A(tha)’ ในสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่จำกัดในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ หากจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต คือ ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น – ฟิทช์คาดว่า การกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ที่มากขึ้นของ SCCC จะช่วยลดข้อจำกัดจากประเด็นการมีตลาดหลักเพียงตลาดเดียว SCCC มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ในประเทศกัมพูชา และการเข้าซื้อกิจการในประเทศบังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศน่าจะเติบโตขึ้นเกินระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 6 พันล้านบาทในปี 2558 ซึ่งรายได้จากต่างประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมในปี 2560
ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง – SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 27-28 โดยวัดจากยอดขาย บริษัทฯ สามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ในช่วงที่มีการขยายกำลังการผลิตและการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จที่เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานานของบริษัทฯ และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างสูงของบริษัทฯ ที่มีส่วนช่วยให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า ตำแหน่งทางการตลาดของกิจการที่เข้าซื้อมาก็มีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด (วัดจากปริมาณการจำหน่าย) ร้อยละ 39 ในประเทศศรีลังกา และประมาณร้อยละ 20 ในเวียดนามใต้ ในปี 2559
การฟื้นตัวของอัตราส่วนกำไร – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ SCCC จะฟื้นตัวมาอยู่ในระดับร้อยละ 22-23 ในปี 2560-2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในประเทศเวียดนามที่เข้าซื้อกิจการมา การแข่งขันในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่รุนแรง ประกอบกับอัตราส่วนกำไรจากธุรกิจในประเทศบังคลาเทศที่ต่ำกว่าในประเทศไทย ส่งผลให้ EBITDA margin ของบริษัทฯ ลดลงมาอยู่ระดับร้อยละ 20 ในปี 2559 จากร้อยละ 23-24 ในปี 2557-2558 ฟิทช์มองว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2560 เนื่องจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับก่อสร้างในหมวดที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับเพิ่มสูงขึ้นในปี 2561
ผลการดำเนินงานมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – อัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิง และไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ฟิทช์คาดว่าราคาถ่านหินโดยเฉลี่ยในปี 2560 จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2559 เนื่องจากอุปทานที่ลดลงในประเทศจีน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย บริษัทฯ มีสถานะทางธุรกิจในด้านขนาดของธุรกิจ ตำแหน่งทางการตลาดในประเทศ และการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจที่ด้อยกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) (อันดับเครดิตปัจจุบัน ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม SCC มีอัตราส่วนหนี้สินโดยเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทฯ ถึงแม้ว่าการลงทุนซื้อกิจการจะส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทฯ น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าได้ในสามถึงห้าปีข้างหน้า
เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างอีกรายหนึ่ง คือ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) (อันดับเครดิตปัจจุบัน ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) SCCC มีลักษณะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า TASCO เป็นผู้ผลิตยางมะตอยชั้นนำของประเทศไทย มีขนาดของกระแสเงินสดที่เล็กกว่าและมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่า SCCC โดยเฉพาะเมื่อ SCCC มีการเข้าซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCCC ส่งผลให้ SCCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า TASCO แม้ว่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า นอกจากนี้ TASCO ยังต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลักอีกด้วย
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ ได้แก่ การเพิ่มทุนจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทเสร็จสมบูรณ์ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 , ปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 และเติบโตในระดับที่สูงขึ้นในปี 2561, รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 40 – 50 ในปี 2560 ภายหลังจากมีการเข้าซื้อกิจการ บริษัท สยามซิตี้ซีเมนต์ (ลังกา) จำกัด และ Holcim (Vietnam) Limited , EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 22-23 ในปี 2560 - 2561, อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 60 ในปี 2560 - 2561
ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: การเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและ EBITDA margin ซึ่งส่งผลให้ SCCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่สามารถรักษา FFO adjusted net leverage ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยลบ: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุน ซึ่งทำให้ FFO adjusted net leverage สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ส่วนด้านสภาพคล่อง ความจำเป็นในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้: ณ สิ้นปี 2559 บริษัทฯ มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ บริษัทฯ วางแผนที่จะชำระคืนหนี้เหล่านี้ โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน การกู้ยืม และการออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงที่บริษัทฯ จะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพียงพอต่อการชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากบริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุน