GUNKUL ตั้งเป้าชิง PPA ในปท.ปีนี้หวังได้ไม่ต่ำกว่า 100 MW,เจรจาเข้ารับงานสายส่งไฟฟ้าในลาวมูลค่าราว 3 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 10, 2017 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้าประมูลโครงการพลังงานทดแทนในประเทศที่ปีนี้คาดว่าจะมีออกมามากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ , โครงการ SPP Hybrid Firm, โครงการ VSPP Semi-Firm ,โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งบริษัทหวังจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ หรือที่ 10% ของโครงการทั้งหมด

นอกจากนี้ยังศึกษาลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในประเทศมาเลซีย และประเทศเวียดนาม ซึ่งในมาเลเซียบริษัท ได้ศึกษาโครงการพลังงานลมซึ่งมีกำลังการผลิตที่ประมูล 300 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับงานราว 50-60 เมกะวัตต์ และศึกษาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เปิดประมูลกว่า 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้รับงานไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์

ส่วนการลงทุนที่ประเทศเวียดนาม ขณะนี้ศึกษาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 100 เมกวัตต์ และยังมีโครงการลมที่อยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะมีใบ PPA จากทั้งในและต่างประเทศรวมเป็น 1,000 เมกะวัตต์ในปี 63 แบ่งเป็นในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50% จากปัจจุบันที่ 488 เมกะวัตต์

นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันทางการเงิน เพื่อให้ปล่อยสินเชื่อให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ในการก่อสร้างโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 KV และ 230 KV มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะเข้าไปรับงานดังกล่าว แต่มูลค่างานนั้นขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงิน โดยเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทเตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพิ่มวงเงินการออกหุ้นกู้อีก 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 6 ,000 ล้านบาท ในวันที่ 21 เม.ย. 60 โดยในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ มูลค่า 3,000-5,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) มูลค่า 3,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้รองรับขยายการลงทุนโครงการพลังงานใหม่ ๆ พร้อมกันนี้บริษัทมีแผนเดินทางไปให้ข้อมูลนักลงบทุน ที่ประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ด้วย

สำหรับภาพรวมปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตได้ 20-30% หรือไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท จากปี 59 คาดมีรายได้ 3,000 ล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายของสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจพลังงานในปี 61จะเพิ่มเป็น 80% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนที่ 70% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจเทรดดื้ง และ รับเหมาก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ