(เพิ่มเติม) CIG วางเป้าดันรายได้แตะ 3 พันลบ.ใน 3 ปีปักธงรุกธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟ,มั่นใจปีนี้พลิกมีกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 13, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG) วางเป้าหมายผลักดันรายได้ 3 ปีขึ้นแตะ 3 พันล้านบาทภายในปี 62 จากปีนี้คาดทำรายได้ 1.5 พันล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ราว 1 พันล้านบาท หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจและเปิดธุรกิจใหม่สร้างรายได้เสริมจากกิจการหลักเดิมที่คาดว่ารายได้จะทรงตัวต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าช่วยทำให้ผลประกอบการปีนี้พลิกกลับมาเป็นกำไรอย่างแน่นอน

พร้อมเตรียมแผนทุ่ม 500 ล้านบาทปักธงรุกธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟครบวงจรโดยภาคเอกชนแห่งแรกของไทยภายใต้ชื่อ บริษัท สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ตอบรับแผนพัฒนาระบบรางของประเทศเข้ารับงานทั้งภาครัฐและเอกชน เล็งเข้าซื้อที่ดินติดสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยวหวังรับสิทธิประโยชน์โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก วาดฝันทำรายได้ปีแรก 900 ล้านบาทเกือบเท่าธุรกิจหลัก

นายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการบริหาร CIG เปิดเผยว่า ภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ และการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มดีจะทำให้ CIG เติบโตเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยวางเป้าหมายรายได้รวมจากธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ไว้ที่ 2,000-3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันประมาณ 1,000 ล้านบาทในช่วงปี 59 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 1,500 ล้านบาท หรือเติบโต 50% จากปีก่อน รวมทั้งมีผลประกอบการพลิกเป็นกำไรจากที่ขาดทุน 1.9 ล้านบาทในปีก่อน

“ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ในธุรกิจหลักให้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งให้แข่งขันได้ดีขึ้น และการขยายการลงทุนผ่านการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทีมีอนาคตจะส่งผลให้ ซี.ไอ. กรุ๊ปฯ ขยายตัวตามเป้าหมายคือจะโตอย่างน้อยเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า เริ่มจากปีนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากที่เราลงทุนไป" นายอารีย์ กล่าว

อนึ่ง ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขายสิทธิในการเช่าและดำเนินการกิจการโรงแรมของ บริษัท เดอ ละไม จำกัด เป็นโรงแรม 2 แห่งที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ลดภาระต้นทุนบริษัทแม่ลงถึงปีละ 19 ล้านบาท และจะมีรายได้จากการขายสิทธิเข้ามาอีกปีละประมาณ 20 ล้านบาท ส่งให้บริษัทมีฐานะการเงินดีขึ้นเกือบปีละ 40 ล้านบาท

ขณะที่โครงสร้างรายได้ในปี 60 ธุรกิจหลัก คือผลิตคอยล์เย็น (Evaporator Coil) คอยล์ร้อน (Condenser Coil) และคอยล์น้ำเย็น (Chilled Water Coil) ซึ่งเป็นส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศเครื่องทำความเย็น และอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนและความเย็นประเภทอื่นๆ เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะทรงตัวราว 1 พันล้านบาท

ส่วนธุรกิจใหม่คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ามาประมาณ 500 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผนังฉนวนกันความร้อน Kingspan ประมาณ 150 ล้านบาท, ธุรกิจจำหน่ายเอทานอลภายใต้บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท ฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด จะรับรู้เข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 50 ล้านบาท ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายใต้ บริษัท เดอ ละไม ประมาณ 300 ล้านบาท

นายอารีย์ กล่าวว่า ธุรกิจหลัก คือ การผลิตและจำหน่ายคอยล์จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่ระบบทำความเย็น ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ ระบบประหยัดพลังงาน และระบบผนัง หลังคา ฉนวนกันความร้อนเพื่อที่จะมุ่งไปสู่ตลาด Green Building และรองรับกลุ่มลูกค้าที่จะเข้าสู่การดำเนินการตามการบังคับใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ในมาตรฐานการก่อสร้าง ซึ่งมีแนวโน้มเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนในปีนี้ราว 190-200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตคอยล์แห่งที่ 4 ราว 40-50 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จไนไตรมาส 3/60 และก่อสร้างอาคารสำนักงานแบบประหยัดพลังงาน ราว 150 ล้านบาท

ขณะธุรกิจเอทานอลจะเริ่มการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 60 ราว 4 หมื่นลิตร/วัน และจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 6 หมื่นลิตร/วันในระยะต่อไป ก่อนที่จะไปสู่เป้าหมาย 1.2 แสนลิตร/วันอย่างช้าในปี 62 ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มเป็นราว 300 ล้านบาท

นายเศกบุษย์ บัวดวง กรรมการบริหาร บริษัท สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะประกอบธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงหัวรถจักร เครื่องยนต์ โบกี้ผู้โดยสารและขนส่งสินค้าทุกประเภท เพื่อเข้าเสนอให้บริการกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภาคเอกชน อาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ

ปัจจุบันบริษัทได้จัดหาพื้นที่ขนาด 30 ไร่ติดกับสถานีรถไฟใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อตั้งศูนย์ซ่อมฯ ขนาดใหญ่ 2 โรง รวม 13 รางซ่อม สามารถให้บริการซ่อมบำรุงได้พร้อมกันคราวละไม่น้อยกว่า 60 คัน ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ มีการเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งจากอดีตวิศวกรและนายช่างจากการรถไฟ และช่างฝีมือทุกแขนงครบวงจร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างใน 18 เดือน เปิดบริการปลายปี 61 และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป ขณะที่บริษัทจะยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐเนื่องจากเป็๋นการลงทุนในพื้นที่ส่งเสริมพิเศษระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC )

เบื้องต้นบริษัทมีการเจรจรกับบริษัทเอกชนที่เตรียมเข้ายื่นประมูลขายโบกี้ชานต่ำให้กับกองทัพบก ซึ่งมีความต้องการใช้บริการศูนย์ซ่อม คาดว่าจะสามารถเซ็นข้อตกลงทำความเข้าใจ (MOU) ได้ในช่วงกลางปี 60 และคาดหวังที่จะเข้ารับงานซ่อมบำรุงให้กับผู้ที่เข้าประมูลให้เช่าหัวรถจักรใหม่ให้กับ รฟท.จำนวน 50 คัน ระยะเวลา 15 ปี เริ่มส่งมอบปี 63 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากต่างประเทศ ขณะที่ในเงื่อนไขการประมูลระบุว่าจะต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย

"มันเป็นโอกาสของธุรกิจที่แต่ละปีมีรถไฟรอซ่อมเป็นจำนวนมาก และยังจะมีหัวรถจักรใหม่ คิดเป็นเงินค่าซ่อมบำรุงปีหนึ่ง ๆ หลายล้านบาท ขณะที่ศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่ 4 แห่งของ รฟท.ที่พร้อมรับงานซ่อมหนักได้มีไม่เพียงพอ อีกทั้งเรามีทีมวิศวกรที่เป็นอดีตผู้บริหารและอดีตพนักงานของ รฟท.เข้ามาร่วมงานด้วย เราไม่ได้คิดว่าเราจะไม่มีคู่แข่งเกิดขึ้นในอนาคต แต่เราขอส่วนแบ่งงานตามที่สามารถรับได้ก็พอแล้ว"นายเศกบุษย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอารีย์ กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่าการเสนอตัวเข้ารับงานของ รฟท.และภาคเอกชนยังถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดความไม่แน่นอนกับตัวธุรกิจขึ้นก็ได้ แต่บริษัทเชื่อว่าด้วยศักยภาพของตัวที่ดิน น่าจะสร้างผลประโยชน์ให้บริษัทในด้านอื่นทดแทนได้ เพราะการขยายการลงทุนใหม่ทั้ง 2 ธุรกิจในเครือจะคำนึงว่าต้องมีอัตราการคืนทุนเร็วภายใน 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ และมีเป้าหมายรักษาสัดส่วนที่หนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทไม่เกิน 2 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.41 เท่า

ด้านธุรกิจอื่น ๆ นั้นในอนาคตก็จะเพิ่มบทบาทขึ้นด้วย โดยในปี 62 วางเป้าหมายรายได้จาก ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผนังฉนวนกันความร้อน Kingspan เพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ธุรกิจก่อสร้างทำรายได้ทรงตัวที่ราว 300 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ