ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีธุรกิจที่หลากหลายและความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับทั้งลูกค้าและผู้จัดหาสินค้า (Suppliers) ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะด้านการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology - IT) และความมั่นคงของกระแสเงินสดจากธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ IT และภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและยังคงได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจและแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายต่อไป
ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นของอันดับเครดิตในระยะปานกลางมีจำกัดเมื่อพิจารณาถึงความกังวลในคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย ในขณะที่ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แย่กว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานก็จะส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน
SAMART ก่อตั้งในปี 2493 โดยกลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 และ ณ สิ้นปี 2559 กลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 45% สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลายจากสายธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) สายธุรกิจ IT Solutions ซึ่งให้บริการด้านระบบสารสนเทศผ่านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ดำเนินงานโดย บมจ. สามารถเทลคอม (SAMTEL) (2) สายธุรกิจ Mobile Multimedia ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจำหน่ายและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนให้บริการข้อมูล ข่าวสาร และบันเทิง ดำเนินงานโดย บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) (3) ศูนย์บริการลูกค้าครบวงจร (Contact Center) ดำเนินงานโดย บมจ. วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO)
นอกจากนี้ยังมี (4) สายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี และ (5) สายธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและขนส่ง ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทและบริษัทย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 70% ในบริษัทสามารถเทลคอม นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 71% ในบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย และ 68% ในบริษัทวันทูวัน คอนแทคส์ ทั้งนี้ สายธุรกิจ IT Solutions เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทในสัดส่วน 42% ของรายได้รวม ส่วนสายธุรกิจ Mobile Multimedia สร้างรายได้ในสัดส่วน 25%
สถานะทางธุรกิจของ SAMART ขับเคลื่อนไปได้ด้วยสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยบริษัทมีผลงานเป็นที่ยอมรับในโครงการภาครัฐที่หลากหลายและสามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุง สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งได้รับแรงหนุนจากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานทั้งกับลูกค้าภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งความสัมพันธ์ดีกับผู้จัดหาสินค้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากธุรกิจจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาก็มีเสถียรภาพสูงด้วยสัญญาสัมปทานระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของบริษัทยังมาจากผลประกอบการที่ผันผวนจากธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ IT ที่มีขนาดมูลค่าโครงการแตกต่างกันมาก อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ทั้งนี้ ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย ลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงและการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างทำกิจกรรมสนับสนุนทางการตลาดโดยให้ส่วนลดค่าเครื่องและแจกเครื่องฟรีจำนวนมาก
บริษัทมีรายได้ 13,676 ล้านบาทในปี 2559 ลดลง 26% จากปี 2558 โดยเป็นผลจากยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลดลงและการประมูลงานภาครัฐที่ล่าช้าเป็นสำคัญ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ลดลงจาก 16.5% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 15.4% ในปี 2559 อันเป็นผลกระทบจากการขาดทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจ Mobile Multimedia ถึงแม้ SAMTEL, OTO และบริษัทย่อยอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังคงระดับอัตรากำไรไว้ได้ก็ตาม เป็นผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2559 ปรับลงมาอยู่ที่ 1,920 ล้านบาทจาก 2,526 ล้านบาทในปี 2558
ขณะที่ SIM กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงธุรกิจจากผู้จัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่สู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิตัลและ Solutions นอกจากนี้ บริษัทกำลังเจรจากับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการให้บริการโครงข่ายระบบวิทยุคมนาคมแบบดิจิตัล ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคตส่วนธุรกิจการจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีขนาดเล็กลง ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่ใช่การจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์อย่างเช่น การบริการข้อมูลข่าวสาร และธุรกิจให้บริการเผยแพร่ภาพออกอากาศทางโทรทัศน์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับระดับลูกหนี้ที่สูงของ SIM โดยระดับลูกหนี้การค้าสำหรับกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกันที่มีอายุหนี้คงค้างเกินกว่า 6 เดือนของ SIM เพิ่มขึ้นจาก 180 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 มาอยู่ที่ 3,915.8 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งยอดลูกหนี้ที่สูงนี้อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในกรณีที่เก็บหนี้ไม่ได้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทบริหารลูกหนี้ของ SIM ที่อยู่ในระดับสูงนี้อย่างระมัดระวังโดยไม่ให้กระทบสถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัท
ในช่วงปี 2560-2562 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงมีความผันผวน โดยคาดว่ารายได้จากการจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะลดลงเนื่องจากบริษัทมีความตั้งใจที่จะลดขนาดธุรกิจนี้ลง ในขณะที่ SIM จะเน้นให้บริการข้อมูลข่าวสารทางด้านดิจิตัลและ Solutions เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะให้บริการโครงข่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย คาดว่ารายได้จากธุรกิจส่วนนี้จะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อเพิ่มการเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้าและมาทดแทนรายได้จากการจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลดลง
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทคาดว่าจะมาจากมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ขนาดใหญ่ของ SAMTEL ประมาณ 9,300 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 และโอกาสที่จะได้งานใหม่จากงานวางระบบ IT Solutions อีกด้วย นอกจากนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทยังมาจากศูนย์บริการลูกค้าครบวงจรที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น อีกทั้งจากรายได้ที่สูงขึ้นของธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาและจากการได้สัญญาใหม่ ๆ ในโครงการสถานีไฟฟ้าย่อย
ในช่วงปี 2560-2562 คาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจ Mobile Multimedia และการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานถึงระดับ 3,500 ล้านบาทต่อปีภายในปี 2562 บริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่ต้องชำระประมาณ 700 ล้านบาทต่อปีในปี 2560 และอีก 1,750 ล้านบาทในปี 2561 คาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในช่วง 10%-25%
ภาระหนี้สินของบริษัทอยู่ที่ 13,241 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ลดลงจากระดับ 14,555 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 โดยภาระหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในโครงการของ SAMTEL และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ SIM อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 62.6% ณ สิ้นปี 2559 เปรียบเทียบกับระดับ 63.6% ในปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2560-2562 โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนโครงการให้บริการด้านระบบสารสนเทศของ SAMTEL รวมถึงโครงการธุรกิจใหม่ของ SIM และโครงการด้านพลังงานของบริษัทเป็นสำคัญ โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 68% ในช่วงระหว่างปี 2560-2562