"หมอวิชัย"เสนอบอร์ด IFEC ตั้งอนุกก.แก้หนี้ 7.2 พันลบ.ตั้งเป้าสรุป 25 เม.ย.ยันต้องขาย"ดาราเทวี"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 15, 2017 08:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ในวันนี้ (15 มี.ค.) ให้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหมดของ IFEC ที่มีมูลหนี้รวมกว่า 7.2 พันล้านบาท เพื่อนำไปสู่การปลดเครื่องหมายห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) โดยเร็ว ด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ โดยเชื่อว่าจะหาข้อสรุปภายในวันที่ 25 เม.ย.60 เพื่อให้ IFEC สามารถเดินหน้าประกอบธุรกิจต่อไปได้

"ประเด็นสำคัญเร่งด่วนตอนนี้มี 2 เรื่อง คือ แก้ปัญหาหนี้ และปลด SP แม้ว่าวันนี้คงยังไม่สามารถตกผลึกได้ในการประชุมบอร์ด คงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเดินหน้าให้เต็มสูบ ถ้าแก้หนี้ ปลด SP ได้ ก็ต้องพร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อไปแล้ว"นายวิชัย กล่าว

นายวิชัย กล่าวว่า มูลหนี้ทั้งหมดที่จะหยิบยกมาพิจารณาแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย หนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) วงเงินราว 3 พันล้านบาท หนี้หุ้นกู้ วงเงินราว 3 พันล้านบาท และหนี้เงินกู้จากธนาคารและบริษัทย่อยอีก 1.2 พันล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการเชิญเจ้าหนี้ทุกรายเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม นอกจากนั้น คณะกรรมการจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะถึงกำหนดชำระคืนระหว่างนี้ด้วย ซึ่งในเดือนมี.ค.จะมีตั๋ว B/E ที่ถึงกำหนดไถ่ถอนอีกราว 100 ล้านบาท

"กรรมการในอนุกรรมการจะมาจากบอร์ดใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 2 คน และตัวแทนจาก เพลินจิต แคปปิตอล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฯ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ควรจะเรียกเจ้าหนี้เข้ามาคุยทุกเจ้า เรื่องไหนวงเงินสูงก็เสนอเข้ามาที่บอร์ด แต่ถ้าวงเงินน้อย ๆ คณะอนุกรรมการก็จัดการไปได้เลย"นายวิขัย กล่าว

ทั้งนี้ นายวิขัย กล่าวว่า แนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมในการแก้ปัญหาหนี้คือการขายกิจการโรงแรมดาราเทวี ซึ่งการเจรจากับกลุ่มทุนจากจีนเมื่อปลายปีที่แล้วคาดว่าจะขายได้ราคาราว 5 พันล้านบาท น่าจะเพียงพอสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่การที่ตนเองลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับกองทุน Jade Bird Fund ที่สนใจเข้ามาซื้อดาราเทวีนั้น ยังต้องรอการกำหนดราคาซื้อขายสุดท้ายอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ยังมีวาระที่จะพิจารณาดำเนินการตามกรอบอนุมัติของกรรมการเดิม คือการขายกิจการโรงไฟฟ้าไบโอแมส ของบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี เพาเวอร์ ลพบุรี การขายโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 4 โรง ด้วย

"ทุกคนอยากได้โรงไฟฟ้า แต่ราคาก็ต้องเหมาะสมด้วย ราคาไม่น่าต่ำกว่าโรงละ 100 ล้านบาท...แต่แนวทางแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร คณะอนุกรรมการจะมาพิจารณากัน ดูข้อมูลทุกด้าน เมื่อได้ข้อสรุปภายใน 25 เม.ย.ก็นำกลับมาเสนอที่คณะกรรมการ แต่ที่สุดแล้วก็ต้องให้ผู้ถือหุ้นเป็นคนตัดสิน" นายวิชัย กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีวาระที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบเรื่องการดำเนินคดีกับอดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัททั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าของคดีและการตรวจสอบภายในและพิจารณาอนุมัติดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีและผู้กระทำความผิด

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจของ IFEC ต่อไปนั้น แนวทางที่เคยวางไว้ ได้แก่ โรงไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่า IFEC มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ส่วนราชการและสหกรณ์ระยะ 2 โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 15 เมกะวัตต์ใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้าขยะที่มี PPA จำนวน 11 เมกะวัตต์ ใน จ.ชลบุรีและสระแก้ว, ธุรกิจระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบสมาร์ทกริด, ระบบ Energy Saving และ Energy Storage รวมทั้งเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อระบบรักษาความปลอดภัย

"ผมเคยวางแผนไว้ว่าปีนี้จะเดินไปทางนี้ จะมุ่งทำให้เกิด Welness ให้เร็วที่สุด แต่มันมาสะดุดเพราะเกิดปัญหาที่ไม่เอื้ออำนวยหลายเรื่อง"นายวิขัย กล่าว

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการวันนี้เชื่อว่าหากทุกฝ่ายจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา IFEC ด้วยการวางเรื่องหุ้นเอาไว้ก่อน ก็จะทำให้ทุกอย่างแก้ปัญหาลุล่วงไปได้ และเชื่อว่าหากคณะกรรมการทุกฝ่ายได้รับข้อมูลครบถ้วนก็จะสามารถหาแนวทางที่เหมาะสม


แท็ก ดาราเทวี   (IFEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ