นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่าในงวดปี 59/60 (สิ้นสุด มี.ค.60) จำนวนผู้โดยสารเติบโต 3% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในระดับ 5-6% โดยงวด 9 เดือนแรกจำนวนผู้โดยสารโต 2.6% เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายช่วง
ปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารในช่วงวันธรรมดา (weekday) เฉลี่ย 7.7 แสนเที่ยวคน/วัน และทำสถิติสูงสุดที่ 8.7 แสนเที่ยวคน/วัน ในวันศุกร์ช่วงต้นปี 60 โดยวันศุกร์มีจำนวนผู้โดยสารจำนวนมากกว่าวันอื่น ทั้งนี้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยทั้ง 7 วันอยู่ที่ 6.7 แสนเที่ยวคน/วัน
ขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยปรับขึ้น 1%ในปีนี้ จากงวด 9 เดือนปรับเพิ่มขึ้น 1.9% ดังนั้น จึงคาดว่ารายได้ในงวดปีนี้จะเติบโต 6-7% จากงวดปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.08 หมื่นล้านบาท โดยงวด 9 เดือนเติบโต 4.5% มาที่ 6.6 พันล้านบาท
นายสุรพงษ์ คาดว่า บริษัทเชื่อว่าในปี 61 เมื่อเปิดเดินรถเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการเต็มที่ทั้งสาย จะทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ทะลุ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน และในปี 63 จะเปิดเดินรถช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ก็จะทำให้ผู้โดยสารเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน BTS ได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต -สะพานใหม่- คูคต เบื้องต้นระยะเวลา 30 ปี คิดเป็นเงินค่าจ้างปีละ 1.5-1.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงนามในสัญญายังต้องรอให้ กทม.รับโอนพื้นที่จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้การเดินรถช่วงแรก สถานีแบริ่ง-สำโรง ต้องล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าจะเปิดให้บริการดังกล่าวได้ภายในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ขณะที่บริษัทมีแผนจะเดินรถจากแบริ่ง- สมุทรปราการภายในสิ้นปี 61
"กทม.ขอคลัง 6 หมื่นล้านบาททยอยจ่ายคืน แต่ติดอยู่ 3.5 พันล้านบาทที่จะต้องจ่ายทีเดียวให้ รฟม.ซึ่งเป็นค่าเวนคืน ขอสภาฯ ก็ไม่ได้ มีความเป็นไปได้ให้บริษัทกรุงเทพธนาคมไปจัดหาแหล่งเงิน หรือจะมากู้จาก BTS ก็ได้....เรื่องนี้ทำให้การเดินรถล่าช้า"นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ คาดว่า BTS มีโอกาสรับงานจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ กทม.รับเป็นผู้บริหารจัดการอีก 3 สายที่คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปีนี้ คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) ระยะทาง 2.72 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี, รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) ระยะทาง 26 กม โดยแบ่งเฟสแรกระยะทาง 16 กม. มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และ รถไฟฟ้า LRT (บางนา-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 15 กม. มูลค่าโครงการ 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ BTS ยังสนใจเข้าร่วมประมูลงานเดินรถสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ -มีนบุรีด้วย เนื่องจากบริษัทมีฐานะการเงินแข็งแรง โดยปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.2 เท่า ทำให้บริษัทยังมีความสามารถจะกู้เงินเพื่อมาลงทุนได้อีกมาก ขณะเดียวกัน บริษัทมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราวปีละ 4 พันล้านบาท
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ BTS เข้าร่วมกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งได้รับคัดเลือกเข้าไปดำเนินโครงการแบบ PPP อายุสัมปทานเดินรถ 30 ปี ขณะนี้ทางกลุ่มบีเอสอาร์ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัทเข้าดำเนินการโครงการแล้ว แต่ละโครงการใช้เงินทุน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของทุนบริษัทละ 1.4 หมื่นล้านบาท โดย BTS ถือหุ้นราว 75% คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนแห่งละ 1.05 หมื่นล้านบาท รวม 2 บริษัท คิดเป็นเงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกโครงการละ 3.6 หมื่นล้านบาท รวม 2 โครงการรวมเป็น 7.2 หมื่นล้านบาท BTS คาดว่าจะใช้เงินกู้แบบ Project Finance ระยะเวลา 15 ปีขึ้นไป
ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้เจรจากับ รฟม.เรียบร้อยแล้ว รอการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนเม.ย.นี้
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ จะใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 33 เดือน และสัมปทานเดินรถ 30 ปี โดยเบื้องต้นตกลงกำหนดราคาโดยสาร 15-42 บาท แต่เมื่อเปิดให้บริการอาจปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ของทั้ง 2 โครงการจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 10%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาคัดเลือกรถไฟฟ้าโมโนเรลจากผู้ผลิต 3 ราย ได้แก่ บอมมาดิเอร์จากแคนาดา, Scomi จากมาเลเซีย และ CRRC Changchun Railway Vehicles Co.,Ltd. (CRRC) จากจีน ทั้งนี้ รถโมโนเรล จะมีขนาดตู้โดยสารเล็กกกว่ารถไฟฟ้าที่ใช้เดินรถของบีทีเอสในปัจจุบัน
สำหรับบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 แห่ง จะมีผู้ถือหุ้นในแต่ละบริษัท ได้แก่ BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 75% ,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) สัดส่วน 15% และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) สัดส่วน 10%