ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ PTTEP ที่ “AAA" และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ “AA" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 15, 2017 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่ระดับ “AAA" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “AA" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ PTTEP อยู่ 2 ขั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าวได้

อันดับเครดิตของ PTTEP สะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงที่ราคาปิโตรเลียมอยู่ในระดับต่ำด้วย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า PTTEP จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย โดยความยืดหยุ่นในการปรับแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการมีสภาพคล่องที่เพียงพอจะช่วยให้บริษัทผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้

ปัจจัยเชิงลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกระทบต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด หรือหากบริษัทมีระดับเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการซื้อกิจการขนาดใหญ่ด้วยเงินกู้

PTTEP เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 บมจ. ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติเป็นผู้ถือหุ้น PTTEP ในสัดส่วน 65.3% ทั้ง PTT และ PTTEP มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย

การเป็นตัวแทนของ PTT และรัฐบาลในการทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทำให้ PTTEP ได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ เดือนธันวาคม 2559 PTTEP มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 37 โครงการใน 10 ประเทศ โดยโครงการเกือบ 2 ใน 3 หรือจำนวน 23 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา

ในปี 2559 บริษัทมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมลดลงเล็กน้อยที่ 1.5% เหลือ 368,255 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 373,888 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2558 ปริมาณการผลิตที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายโครงการโอมาน 44 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 รวมถึงปริมาณผลิตที่ลดลงจากโครงการเยตากุนในประเทศเมียนมาและโครงการเวียดนาม 16-1

โดย ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดที่ระดับ 695 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หากพิจารณาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปี 2559 แล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทน่าจะผลิตได้นานประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทมีปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจจะผลิตได้สูงถึง 5,000 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ซึ่งรวมถึงปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วและปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ) หากบริษัทตัดสินใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมการ เช่น โครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas -- LNG) ในประเทศโมซัมบิค โครงการคอนแทร็ค 4 (อุบล) และโครงการ Algeria HBR ปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมดังกล่าวบางส่วนก็จะเปลี่ยนเป็นปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว โดยปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วจะมีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ถึง 2 ปีเมื่อพิจารณาจากอัตราการผลิตรวมของบริษัทในปี 2559

ในปี 2559 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงเกือบ 19% จากราคาเฉลี่ยที่ 50.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2558 เหลือ 41.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาขายโดยเฉลี่ยของบริษัทได้รับผลกระทบทั้งจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยราคาก๊าซธรรมชาตินั้นจะมีการปรับไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันรวมถึงปัจจัยอื่นด้วยโดยจะปรับช้ากว่าราคาน้ำมัน 3 เดือนถึง 1 ปี ทำให้ราคาขายโดยเฉลี่ยของบริษัทลดลง 20.7% จาก 45.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2558 เหลือ 35.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2559

ในปี 2559 บริษัทยังคงปรับลดค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงานลงตามทิศทางราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ โดยบริษัทได้ปรับลดค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับปี 2559 มากกว่า 40% เหลือประมาณ 1,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแผนเดิม จากแผนการลดต้นทุนของบริษัททำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมที่เป็นเงินสดลงเหลือ 12.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2559 จาก 15.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2558 ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถรักษาสภาพคล่องเอาไว้ได้แม้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะลดลงตามราคาน้ำมันก็ตาม บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายหลัก ๆ อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน เงินปันผล และการชำระคืนเงินกู้ ทั้งนี้ การลดต้นทุนการผลิตที่เป็นเงินสดนั้นยังช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับอัตรากำไรได้อีกด้วย

ในปี 2559 บริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมลดลง 0.8% จาก 322,167 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2558 เหลือ 319,521 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลง 20.7% เหลือ 35.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2559 เป็นผลทำให้รายได้ของบริษัทลดลง 21% เหลือ 4,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมี EBITDA ที่ 2,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 แม้ว่า EBITDA จะลดลง แต่ก็ยังเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน และจ่ายเงินปันผล

นอกจากนี้ ในปี 2559 บริษัทยังซื้อคืนหุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 176.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในมูลค่า 183.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่งการชำระคืนหนี้บางส่วนก่อนกำหนดช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินและทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับ 24.4% และบริษัทยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแรง โดย ณ สิ้นปี 2559 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 4,022 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินกู้รวม 2,832 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 978 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจำนวน 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นวงเงินกู้ยืมประเภท Committed Credit Line ณ สิ้นปี 2559

ในช่วงปี 2560-2562 คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 5,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรับลด 13% จากแผนเดิมของบริษัท โดยบริษัทจะยังคงลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่หลัก ๆ ต่อไป เช่น ในบริเวณอ่าวไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การตัดทอนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนนี้คาดว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัท

ในช่วงปี 2560-2562 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า PTTEP จะมี EBITDA ประมาณ 3,000-3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยอยู่บนสมมติฐานที่ปริมาณขายปิโตรเลียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 307,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2560-2562 ในขณะที่แผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2560-2562 อยู่ที่ประมาณ 5,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทไม่มีภาระการชำระคืนเงินกู้ในปี 2560 แต่ในปี 2561 จะมีเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระคืนจำนวน 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินกู้จำนวน 413 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2562 จากประมาณการระดับ EBITDA ตลอดจนแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและภาระการชำระคืนเงินกู้ที่ระบุไว้ดังกล่าวคาดว่าบริษัทจะยังคงมีอัตราส่วนเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30% ในช่วงปี 2560-2562

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะต้องแสวงหาการเติบโตจากภายนอกเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วรวมถึงเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งบริษัทอาจมองหาโอกาสในการซื้อหรือควบรวมกิจการในโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วหรือใกล้จะเริ่มการผลิตที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้ทันที ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการซื้อกิจการดังกล่าวของบริษัทในระยะสั้นถึงระยะกลางนี้น่าจะไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากบริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 4,022 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ