นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ (TRU) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 15% มาที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาท จาก 1.8 พันล้านบาทในปีก่อน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีที่มีมาร์จิ้นสูง โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะอยู่ที่ 15-16% จากปีก่อนอยู่ที่ 15.3% และคาดอัตรากำไรสุทธิน่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ราว 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.2%
ขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดขายรถที่ใช้ทางการทหาร (TR Transformer) ปีนี้ไว้ที่ 300 คัน จากปีก่อนทำได้ 100 คัน ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างเตรียมเข้าประมูลงานในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 1,000 คัน คาดว่าน่าจะดำเนินการส่งรถต้นแบบได้ในช่วงเดือนพ.ค.60 ซึ่งหากได้รับงานดังกล่าว จะทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในปีหน้า รวมถึงตั้งเป้ายอดขายรถโม่ปูน ปีนี้จะอยู่ที่ 300 คันเช่นกัน โดยคาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
ทั้งนี้การดำเนินกลยุทธ์ในปีนี้ ในธุรกิจแม่พิมพ์ บริษัทจะหาลูกค้ารายใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากค่ายรถยนต์ต่างๆเริ่มมีการออก New Model มากขึ้น ,ขยายธุรกิจไปยัง Non Automotive มากขึ้น เช่น ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทางการเกษตร และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เพื่อกระจายความเสี่ยงในภาวะที่อุตสาหกรรมยายนต์ชะลอตัว โดยปีนี้คาดหวังจะมีสัดส่วนรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 30-40% จากปีก่อนอยู่ที่ 21% และยังมองโอกาสขยายไปยัง material ใหม่ๆ เช่น Composites parts เป็นต้น ส่วนธุรกิจรับจ้างประกอบ OEM ให้กับลูกค้า บริษัทก็รับงานผลิตชิ้นส่วนให้กับลูกค้าที่มีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการขอจัดตั้งเขตปลอดอากร (Free zone) โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 3/60 ซึ่งการจัดตั้งเขตดังกล่าวจะส่งผลทำให้ TRU ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อีกทั้งบริษัทก็อยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เช่น รถมินิบัส ซึ่งบริษัทคาดจะเข้าร่วมประมูลงานกับทางหน่วยงานภาครัฐ ที่คาดว่าจะออกหนังสือเชิญประมูล (TOR) ภายใน 1-2 เดือนนี้ รวมถึงการพัฒนารถกระบะพื้นเรียบ (Flat Deck) และการขยายไปยังรถบรรทุกขนาดกลางเพิ่มอีกด้วย
สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 180-200 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในการติดตั้งโซลาร์รูฟ ในโรงงานอุตสาหกรรม ที่กรุงเทพฯ จำนวน 50 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2/60 โดยคาดจะคืนทุนได้ใน 5-6 ปี และน่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ราว 5 ล้านบาท/ปี และจะนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ 40-50 ล้านบาท และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรในโรงงาน เช่น นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ จำนวน 50 ล้านบาท
"ปีที่ผ่านมาถือน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว และในปีนี้มองว่าอุตสาหกรรมยายนต์น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดจะเติบโตได้ราว 3-5% เป็นไปตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่การรับจ้างการผลิตชิ้นส่วน OEM ก็น่าจะเติบโตไปตามตลาด ซึ่งเราจะมุ่งเน้นการผลิตชิ้นส่วนแบบเบา เพื่อใช้ในพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่งผลต่อการลงทุนขั้นต้นปรับตัวลง แต่มาร์จิ้นจะสูงขึ้น"นายสมพงษ์ กล่าว