บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบถึงการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่บริษัทจะต้องดำเนินการ และได้เสนอกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ขณะที่นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการ ของ IFEC ระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีกรรมการ 5 คนได้ออกจากที่ประชุมแล้ว ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ
IFEC แจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯเช้านี้ว่า การประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการบริษัท เข้าร่วมประชุมทั้ง 9 คน ครบเป็นองค์ประชุม โดยมีมติแต่ละวาระสรุปได้ดังนี้
วาระที่ 1 ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายพิชากร เหมมันต์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่จดบันทึกการประชุม ให้คำแนะนาให้การประชุมคณะกรรมการของบริษัทเป็นไปตามกฎหมาย จากนั้นประธานได้กล่าวถึงกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ของบริษัททดแทนกรรมการเดิมที่ลาออกไป โดยกรรมการใหม่จะใช้ศักดิ์และสิทธิ์ตลอดจนหน้าที่ของกรรมการที่เข้าทดแทนนั้น และกรรมการใหม่จะอยู่ในวาระเท่าที่กรรมการที่เข้าทดแทนเหลืออยู่ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ประชุมรับทราบ
อย่างไรก็ตามก่อนเข้าสู่วาระประชุมที่ 2 กรรมการรายนามต่อไปนี้ ได้ขอตัวออกจากห้องประชุม 1.นายทวิช เตชะนาวากุล 2.นางสาวประนอม โฆวินวิพัฒน์ 3.นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ 4.พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ 5.นายปริญญา วิญญรัตน์ โดยนายทวิช แจ้งว่าให้ประธานดำเนินการประชุมต่อไป
หลังจากนั้นได้เข้าสู่ระเบียบวาระที่ 2-7 ซึ่งที่ประชุมรับทราบ โดยมีวาระสำคัญ ได้แก่ ปัญหาข้อขัดข้องในการบริหารงานของบริษัทย่อยจำนวน 4 บริษัท และแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้จะต้องดำเนินการในกรอบของกฎหมาย ,ความคืบหน้าของคดีและการตรวจสอบภายในและพิจารณาการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีและผู้กระทำความผิด โดยได้มีการรายงานการตรวจสอบตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบชุดเดิม รวมถึงการรายงานถึงคดีที่บริษัทได้ฟ้องร้องผู้ที่กระทำความผิดและทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
ความคืบหน้าของงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อยสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ,การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวันที่ 18 เม.ย. เป็นต้น
สำหรับวาระที่ 8 ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไม่สามารถลงมติในวาระนี้ได้ แต่ตำแหน่งเลขานุการบริษัท เป็นตำแหน่งที่บริษัทจะต้องจัดให้มีตามกฎหมาย ดังนั้นประธานจึงได้เสนอให้ นายสุวิทย์ วรรณะศิริสุข ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของบริษัท ทำหน้าที่รักษาการเลขานุการบริษัทไปก่อนจนกว่าจะมีมติแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท โดยในวาระนี้จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในครั้งต่อไป
สำหรับวาระที่ 9 ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมพิจารณา เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของบริษัท ได้แก่ พิจารณาหนี้สินโดยรวม,สถานภาพตั๋วแลกเงินทั้งหมด , สถานภาพหุ้นกู้ , เงินกู้ยืมจากธนาคารกับบริษัทย่อย , พิจารณาอนุมัติการขายโรงไฟฟ้าไบโอแมส ตามกรอบอนุมัติของกรรมการเดิม, พิจารณาอนุมัติขายโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ 4 โรงไฟฟ้า ตามกรอบอนุมัติของกรรมการเดิม , รับทราบการทำบันทึกความเข้าใจการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี ตามกรอบอนุมัติของกรรมการเดิม ,ตั้งคณะทำงานแก้ไขหนี้ทั้งหมดของบริษัท ,พิจารณาแต่งตั้ง บริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการหนี้ทั้งหมดของบริษัทร่วมกับคณะทำงาน และพิจารณาอนุมัติกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นกู้
อย่างไรก็ตามประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไม่สามารถลงมติในวาระนี้ได้ เนื่องจากกรรมการอยู่ไม่ครบ แต่การแก้ปัญหาหนี้สินของบริษัทเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน ดังนั้นประธานจึงได้เสนอให้ บริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการจัดการหนี้สินของบริษัทไปก่อน เพื่อทำหน้าที่ศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัท เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ร่วมกับคณะทำงานของบริษัท โดยหลังจากสามารถหาข้อสรุปในการจัดการหนี้สินของบริษัท เรียบร้อยแล้ว ให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการดังกล่าวต่อไป
ด้านนายทวิช กล่าวชี้แจงว่า การที่กรรมการจากฝั่งตนเองรวม 5 คน ตัดสินใจไม่อยู่ร่วมประชุมคณะกรรมการต่อนั้น สืบเนื่องจากประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ผลของการเลือกตั้งกรรมการเมื่อวันที่ 14 ก.พ.60 ได้กรรมการใหม่แทนกรรมการเก่า จำนวน 7 คน มีกรรมการใหม่จำนวน 3 คน ต้องออกตามวาระ ได้แก่ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ, นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ และนายปริญญา วิญญรัตน์ ซึ่งทุกคนรับทราบ หลังจากนั้นประธานได้แจ้งที่ประชุมต่อว่า กรรมการที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ต้องไปรับหน้าที่ และสวมตำแหน่งในกรรมการชุดย่อยแทนกรรมการที่ออกไปแล้ว
กรณีนี้มีความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นเลือกกรรมการใหม่มาแทนกรรมการเก่าเท่านั้น ส่วนหน้าที่ของกรรมการชุดย่อย เช่น กรรมการตรวจสอบหรือกรรมการสรรหาฯ เป็นหน้าที่ของกรรมการชุดใหม่ ที่จะต้องพิจารณาแต่งตั้งมอบหมายให้ตามคุณสมบัติที่เหมาะสม แต่นายวิชัย ซึ่งเป็นประธานกรรมการ ได้อ้างถึงมาตรา 83 ของพ.ร.บ.มหาชน ขณะที่กรรมการในฝั่งตนเอง เห็นว่าเป็นการตีความเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และที่สำคัญกรรมการใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งแทน อาจไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือตรงกับคุณสมบัติของกรรมการที่ออกไป แต่นายวิชัยยืนยันว่าต้องตั้งภายในวาระนี้ ทั้งที่เป็นเพียงวาระที่แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเท่านั้น
พร้อมกันนั้นได้เสนอให้เปลี่ยนประธานกรรมการ โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เป็นประธานกรรมการใหม่แทนนายวิชัย แต่ไม่เป็นผล และไม่ได้ยอมรับฟังความเห็นกรรมการชุดใหม่ จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นการขัดขวางและไม่ให้ความร่วมมือตั้งแต่เริ่มประชุม จึงเป็นจุดที่เห็นว่าไม่สามารถร่วมประชุมต่อไปได้ จึงเดินออกจากที่ประชุม หลังจากใช้เวลาการประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่มีการพิจารณาวาระอื่นใดอีก
"ที่แปลกใจที่สุดเย็นวันนั้น บริษัทกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เมษายน 2560 มีแต่วาระเลือกตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ โดยขาดวาระที่สำคัญที่สุด คือ การรับรองงบการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นหัวใจของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี ที่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฝ้ารอ อยากทราบผลประกอบการที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร แต่นายวิชัย กลับชิงความได้เปรียบในอำนาจที่มีอยู่และรีบกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ภายหลังที่กรรมการ 5 คน ออกมาจากที่ประชุมแล้ว โดยองค์ประชุมเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ จำนวนกรรมการเหลือไม่ครบองค์ประชุม มีเพียง 4 คน จากทั้งหมด 9 คน ดังนั้น จึงไม่ทราบว่า IFEC ยังจะดำเนินการประชุมต่อไปได้อย่างไร และถูกกฎหมายหรือไม่"นายทวิช กล่าว