บริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (SAFE) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของ บมจ. ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) และ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) กับพันธมิตรท้องถิ่นคือ บริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (PWGE) ศึกษาการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2-3 แห่ง และการขยายไปสู่โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นนอกเหนือจากเศษไม้ หลังจากคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกใน จ.นราธิวาส ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ในวันที่ 9 เม.ย.นี้
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ FPI กล่าวว่า เซฟ เอนเนอร์จีฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2-3 แห่งทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าแห่งแรก โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงหลัก เนื่องจากบริษัทมีซัพพลายเศษไม้จำนวนมากทั้งจากในไทยและมาเลเซีย เพียงพอสำหรับการป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกที่เตรียม COD นั้น ใช้วัตถุดิบเศษไม้ราว 260 ตัน/วัน ขณะที่มีคลังเก็บเศษไม้ถึง 1,600 ตัน ซึ่งยังสามารถป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น บริษัทจึงศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีความต้องการไฟฟ้าค่อนข้างสูง รวมถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 2-3 แห่ง นอกจากนั้น ยังศึกษาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากเศษไม้ด้วย
"เรามีความพร้อมด้านวัตถุดิบค่อนข้างมาก พาร์ทเนอร์มีความชำนาญด้านนี้เพราะทำธุรกิจโรงไม้ในมาเลเซียมานานหลายสิบปี เรามีไม้จากทั้งในพื้นที่และจากมาเลเซียสามารถป้อนเข้ามาได้วันละ 900 ตัน และมีความคล่องตัวที่จะใช้ไม้จากทั้งสองประเทศ ยิ่งทางมาเลเซียมีเศษไม้เยอะมาก ราคาก็ถูกกว่าในประเทศเรา ทำให้เรามีทางเลือกที่ดีมาก"นายสมพล กล่าว
ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาดกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ใน จ.นราธิวาส ภายใต้ เซฟ เอนเนอร์จีฯ ซึ่งใช้เงินลงทุนราว 750 ล้านบาท มีกำหนด COD ราววันที่ 9 เม.ย. คาดว่าจะมีการรับรู้รายได้จากการขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปีละไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท หลังจากมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีรายได้เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปีหน้าจะคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าจะกระจายหุ้นและนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ราวปลายปี 61 หรืออย่างช้าต้นปี 62
ด้านนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าจะมีความพร้อมเรื่องเงินลงทุนสำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนหลังจากคณะกรรมการบริษัทอนุมัติแผนออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 227.53 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและบุคคลในวงจำกัด ขณะที่มีใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของ ECF (วอร์แรนต์) และมีวงเงินที่สามารถออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ นอกจากการร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าชีวมวลกับพันธมิตรอีก 2 รายแล้ว บริษัทในเครือ คือ บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-P) ยังศึกษาการขยายธุรกิจโซลาร์ฟาร์มด้วย